ในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันชี้ชะตาถึงอนาคตของแรงงานต่างชาติในฮ่องกง เมื่อสภานิติบัญญัติฮ่องกงเตรียมพิจารณาร่างกฏหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นครั้งแรก
ทนาย Azan Marwah หนึ่งในผู้จัดทำร่างกฏหมายฉบับนี้ บอกว่า กฏหมายต่อต้านการค้ามนุษย์นี้ พุ่งเป้าไปที่การคุ้มครอง การสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดีตามกฏหมาย ไปจนถึงการปฏิรูประบบการจ้างแรงงานต่างชาติ เข้ามาประกอบอาชีพเป็นผู้ช่วยในบ้าน หรือ domestic helper
เนื่องจากที่ผ่านมา มีการร้องเรียนถึงการหลอกลวงให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานอย่างผิดกฏหมาย การใช้ค่าแรงต่ำ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงกับแรงงานเหล่านี้มากมาย แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจ ไม่มีแม้กระทั่งเปิดการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฏหมายค้ามนุษย์ของฮ่องกง ยังมีความเป็นไปได้ที่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นตัวบทกฏหมาย
Patricia Ho หนึ่งในนักกฏหมายที่จัดทำร่างกฏหมายฉบับนี้ บอกด้วยว่า ความท้าทายสำคัญของร่างกฏหมายนี้ คือ การชี้แจงถึงความจำเป็นในการผลักดันร่างกฏหมายค้ามนุษย์ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งแรงกดดันจากนานาชาติเกี่ยวกับปัญหานี้ ได้ทำให้รัฐบาลฮ่องกงเริ่มรับรู้ถึงความรุนแรงของปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทาง Lawrence Li โฆษกด้านความมั่นคงของฮ่องกง ยืนยันว่า ฮ่องกงมีกฏหมายที่เพียงพอในการต่อต้านการค้ามนุษย์อยู่แล้ว
ซึ่งสวนทางกับมุมมองของทนาย Marwah ที่มองว่า ตอนนี้ฮ่องกงยังไม่มีกฏหมายห้ามใช้แรงงานทาส กฏหมายห้ามซื้อขายแรงงานทาส กฏหมายห้ามบังคับให้แรงงานกลุ่มนี้แต่งงาน รวมทั้งกฏหมายการฟอกเงิน ซึ่งกฏหมายเหล่านี้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ทั้งสิ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงถูกกดดันจากนานาชาติในประเด็นการค้ามนุษย์ หลังจากสหรัฐฯจัดอันดับให้ฮ่องกงอยู่ในประเทศกลุ่มเทียร์ 2 ที่ต้องจับตา ในรายงานการค้ามนุษย์ เทียบเท่ากับอัฟกานิสถานและปากีสถาน
เนื่องจากรัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถทำตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยการปราบปราบการค้ามนุษย์ได้ ทั้งการเอาผิดกับขบวนการค้ามนุษย์ การระบุตัวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการเพิกเฉยต่อปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ฮ่องกงออกมาปฏิเสธรายงานค้ามนุษย์ฉบับดังกล่าว
ปัจจุบัน ตามข้อมูลของ Justice Center ของฮ่องกง รายงานว่า ฮ่องกงมีแรงงานต่างชาติราว 336,000 คน ส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้ามาประกอบอาชีพผู้ช่วยในบ้านของกลุ่มคนฐานะปานกลางและร่ำรวยในประเทศ
แรงงานกลุ่มนี้ต้องทำงานเฉลี่ย 71.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเกือบ 12 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ด้วยค่าแรงเพียง 4,110 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 20,550 บาทต่อเดือน ท่ามกลางสภาพการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก