ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวฮ่องกงเล็งหาทางหนีเงื้อมมือจีน หลังชนวนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน


Taiwan flags are seen near protesters attending a demonstration to demand the resignation of Hong Kong leader Carrie Lam and the withdrawal of the extradition bill, in Hong Kong, China June 16, 2019. REUTERS/James Pomfret
Taiwan flags are seen near protesters attending a demonstration to demand the resignation of Hong Kong leader Carrie Lam and the withdrawal of the extradition bill, in Hong Kong, China June 16, 2019. REUTERS/James Pomfret
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:21 0:00

ถึงแม้ว่าการชุมนุมใหญ่ของชาวฮ่องกงเพื่อประท้วงร่างกฎหมายส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดนให้ไปดำเนินคดีในประเทศจีน จะทำให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงต้องยอมแตะเบรก สั่งระงับการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไปอย่างไม่มีกำหนด แต่การอ่อนข้อของรัฐไม่ได้ช่วยทำให้ชาวฮ่องกงกังวลน้อยลง ในวันนี้ พวกเขากลับมีคำถามมากขึ้น เกี่ยวกับอนาคตของเกาะแห่งนี้

ในวันที่อังกฤษส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนในปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลจีนได้ให้สัญญาว่าจะยอมให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี ฮ่องกงจะยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างเต็มตัว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2590 หรืออีกเกือบ 3 ทศวรรษหลังจากนี้ แต่ชาวฮ่องกงหลายคนกลับรู้สึกว่า ในวันนี้ วิถีชีวิตของพวกเขากำลังเปลี่ยนไปแล้ว เพราะจีนได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามามากขึ้น

หัวใจหลักของการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ต้องหาข้ามแดน ก็คือคำถามที่ชาวฮ่องกงถามตัวเองว่า หากถูกส่งตัวไปดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมของจีน พวกเขาเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

ซึ่งชาวฮ่องกงหลายคนพร้อมใจกันตอบว่า "ไม่"

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ชุมนุมประมาณ 2 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในฮ่องกง เข้าร่วมประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ต้องหาข้ามแดน เพื่อปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของจีนอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงจะประกาศระงับการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไปแล้วก็ตาม​

ในขณะที่รัฐบาลจีนคืบคลานขยายอิทธิพลเข้ามามากขึ้น ชาวฮ่องกงหลายคนให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะย้ายออกนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายเป็นประเทศตะวันตก หรือประเทศที่พวกเขามองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย

นายเอ็ดวิน ชึง บอกว่าชาวฮ่องกงเริ่มย้ายออกนอกประเทศกันแล้ว คนในวัยเดียวกับเขา ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 30 ปลาย ๆ หรือ 40 ต้น ๆ เริ่มมีการวางแผน บางคนก็เริ่มมองหาที่ทาง

ส่วน นายแฟรงค์ นักบัญชีฮ่องกงบอกว่า เขารู้สึกเสียดายที่เขาจะไม่ชอบการใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกงอีกต่อไป

นอกจากนี้ นายเควิน แลม ทนายความในฮ่องกงกล่าวว่า หากปล่อยให้จีนเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในฮ่องกง จะก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของฮ่องกง ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินและธุรกิจที่สำคัญของโลก

เขาบอกว่า คนชอบใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจที่สำคัญในเอเชีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีฐานในฮ่องกงทำให้พวกเขาเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ของจีนได้ อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือฮ่องกงมีกระบวนการยุติธรรมเป็นของตนเอง มีกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนและเคารพสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนมากกว่าระบบกฎหมายของจีน หากมีการสร้างช่องว่าง ปล่อยให้ระบบกฎหมายของจีนเข้ามาครอบงำแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน

ร่างกฎหมายส่งผู้ต้องหาข้ามแดน ที่เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของฮ่องกงนี้ จะทำให้ฮ่องกงสามารถส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีในจีนได้ เป็นกรณี ๆ ไป แต่ชาวฮ่องกงหลากหลายสาขาอาชีพกังวลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะบั่นทอน หรือทำให้ฮ่องกงสูญเสียอำนาจในการปกครองตนเองไป



ในวันอังคาร นางแครี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ได้ออกมากล่าวขอโทษที่การพิจารณาร่างกฎหมายส่งผู้ต้องหาข้ามแดนได้ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองในฮ่องกง

เธอกล่าวเธอขอแสดงความรับผิดชอบที่ร่างกฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างความวิตกกังวลในสังคม

แต่แลมปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่ต้องการให้เธอลาออก โดยผู้ชุมนุมมองว่าแลมเป็นผู้นำที่นิยมจีน แลมยังบอกผู้สื่อข่าวด้วยว่าเธอตั้งใจที่จะอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ

ในวันอังคาร ฮ่องกงกลับสู่สภาวะปกติเกือบทั้งหมดแล้ว มีเพียงกลุ่มนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่ง ที่ยังชุมนุมอยู่ที่ทำการของรัฐ

แต่อนาคตของฮ่องกง ยังปกคลุมไปด้วยความไม่แน่นอน

การที่ฮ่องกงไม่มีองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทางเลือกอันน้อยนิดเมื่อชาวฮ่องกงต้องการจะคัดค้านมาตรการของรัฐ ก็คือการออกมาประท้วง ถึงจุดนี้ มีการคาดการณ์กันว่า การชุมนุมประท้วงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

XS
SM
MD
LG