พ่อแม่มือใหม่ที่ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ เพื่อปกป้องลูกน้อยจากแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ อาจจะต้องลดความพยายามเหล่านั้นลงบ้าง เพราะการศึกษาครั้งใหม่แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมาก ๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหอบหืด” ในวัยเด็ก
ในการศึกษาที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารทางการแพทย์ CMAJ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Simon Fraser ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา สอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพ่อแม่เด็กว่า ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ่อยแค่ไหน? และชนิดใดบ้าง? ในช่วง 3-4 เดือนแรกที่ทารกเกิด
ผลการศึกษาพบว่า เมื่ออายุครบสามขวบ เด็กที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมากที่สุดมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด มากกว่าเด็กที่มีการสัมผัสน้อยที่สุดถึง 37%
การศึกษายังพบว่า การสัมผัสสูดดมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่ออาการหายใจติดขัดเรื้อรังมากกว่าเด็กคนอื่นถึง 35% และมีแนวโน้มที่จะมีอาการแพ้เรื้อรังมากกว่าเด็กอื่น 49%
Tim Takaro นายแพทย์จากมหาวิทยาลัย Simon Fraser ซึ่งเป็นผู้ร่วมทำการศึกษาครั้งนี้ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาเข้าใจดีว่าพ่อแม่ต้องการทำให้บ้านเป็นที่ที่สะอาดและปลอดภัยจากเชื้อโรคสำหรับลูก แต่พ่อแม่ก็ควรตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าบ้านที่สะอาดคือบ้านที่มีกลิ่นเหมือนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้สารเคมีเท่านั้น จริงหรือ?
นายแพทย์ Takaro แนะนำว่า บ้านที่สะอาดควรเป็นบ้านที่ไม่มีกลิ่นสังเคราะห์ใด ๆ เลย โดยพ่อแม่ควรอ่านฉลากและมองหาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสีและกลิ่นจากสารเคมี นอกจากนี้ก็ควรพิจารณาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรธรรมชาติ หรือ ออแกนิค แทนสารเคมีด้วย
นักวิจัยระบุว่า ในช่วงเดือนแรก ๆ ของชีวิตลูกน้อย เป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่นเดียวกับอวัยวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ
ในขณะที่สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอาจทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังที่อาจนำไปสู่โรคหอบหืด นอกจากนี้ยังอาจทำให้อาการดังกล่าวปรากฏบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย
จากการสอบแถมพ่อแม่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มักใช้กันบ่อยที่สุด คือน้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ น้ำยาทำความสะอาดกระจก และผงซักฟอก
ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตสินค้าทำความสะอาดต่าง ๆ ทั้งในแคนาดาและสหรัฐฯ ยังไม่ถูกกำหนดให้ต้องแสดงรายการสารเคมีทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของตน สินค้าบางอย่างที่ติดฉลากว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเป็นผลิตภัณฑ์ "สีเขียว" ก็อาจมีสารที่เป็นอันตรายด้วยเช่นเดียวกัน
คุณ Elissa Abrams ผู้เขียนความเห็นเกี่ยวกับการศึกษานี้ ซึ่งเป็นแพทย์จาก University of Manitoba ในเมือง Winnipeg ประเทศแคนาดา ยอมรับว่าผลกระทบของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดนั้นยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่เธอเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้และสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบล้วนเป็นสิ่งที่ก่อกวนการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเหล่านี้