David Laur เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสำหรับผลงานของเขาทางด้าน Special Effects เขาบอกว่า เป็นความฝันที่กลายเป็นความจริง และว่า เพื่อนร่วมงานหลายคนที่ Pixar Animation Studios เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองกันมาแล้ว และเวลานี้ก็เป็นโอกาสของเขาบ้าง
David Laur ได้ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์สาขาอวกาศ แต่บอกว่า กำลังสนุกกับงานและแสงสีของฮอลลีวู้ด
ส่วน Mark Sagar เรียนมาทางวิศวกรรมชีวภาพ และได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จับภาพความเคลื่อนไหว ซึ่งถ่ายทอดความรู้สึกทางใบหน้าของนักแสดงไปให้กับตัวการ์ตูน หรือรูปวาดบนจอภาพยนตร์ ภาพยนตร์ฮิทหลายเรื่องรวมทั้งเรื่อง “Avatar” ของ James Cameron อาศัยเทคโนโลยีที่ว่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญ Mark Sagar บอกว่าที่จับความเคลื่อนไหวได้ยากที่สุด คือสายตา
วิศวกรชีวภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผู้นี้บอกไว้ด้วยว่า ในหนังเรื่อง Avatar นั้น เขาอาศัยกล้องถ่ายภาพที่หมวก เก็บภาพสายตาของนักแสดง ซึ่งช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นมาก
แต่ถ้าถามบรรดาวิศวกรและช่วงเทคนิคเหล่านี้ว่า อะไรเป็นหัวใจของภาพยนตร์ ทุกคนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เนื้อเรื่องและการแสดง ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยมากน้อยเข้าแค่ไหนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม Richard Edlund ประธานคณะกรรมการจัดรางวัลสำหรับงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันภาพยนตร์ บอกว่า เทคโนโลยีใหม่ๆที่คิดค้นขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เปิดช่องทางใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับผู้สร้างหนัง และว่า ขอให้มีเงินพอ ก็จะสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง
และสำหรับวิศวกร นักประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ที่หลงไหลในแสงสีของฮอลลีวู้ดนั้น Richard Edlund บอกว่า สิ่งจูงใจคนเหล่านี้ คือความอัศจรรย์ของการสร้างภาพยนตร์