“หุ่นยนต์นักโบก” หรือ HitchBOT เป็นหุ่นยนต์พูดได้ สร้างขึ้นจากสิ่งของและอุปกรณ์เหลือใช้ในบ้าน รวมราคาประมาณ 1,000 ดอลล่าร์ ใบหน้าของหุ่นยนต์ตัวนี้เป็นจอ LED แสดงให้เห็นดวงตาและรอยยิ้ม มีฝาครอบหัวที่ทำจากพลาสติกครอบขนมเค้ก ลำตัวทำจากถังเบียร์ และแขนขาทำจากโฟมที่เป็นท่อยาวซึ่งใช้สำหรับว่ายน้ำ
HitchBOT เริ่มถูกนำไปวางไว้ริมถนนในแถบตะวันออกของแคนาดาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เพื่อให้คนที่ขับรถยนต์ผ่านไปผ่านมานำหุ่นนักโบกตัวนี้ขึ้นรถไปด้วย แล้วนำไปวางไว้ในจุดที่เป็นทางผ่าน ต่อกันไปเรื่อยๆโดยมีจุดหมายอยู่ที่เมืองวิคตอเรียทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา รวมระยะทางกว่า 6,000 กม. ที่หุ่นนักโบกตัวนี้เดินทางข้ามแคนาดา
จากแคนาดา หุ่นยนต์ HitchBOT ยังข้ามไปโบกรถต่อในยุโรป คือที่เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ภายใต้โครงการวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ซึ่งนักวิจัยชาวแคนาดาสองคน คือคุณ Frauke Zeller และคุณ David Smith เป็นผู้จัดทำขึ้น
หุ่นยนต์นักโบกตัวนี้ไม่สามารถขยับตัวเองได้ แต่ต้องอาศัยคนขับรถใจดีที่หยุดรถรับ เพื่อพามันเดินทางไปกับรถยนต์ของพวกเขา
HitchBOT ถูกตั้งโปรแกรมให้สามารถพูดคุยสื่อสารประโยคสั้นๆได้ เช่นตอบคำถามว่าชื่ออะไร หรือจะเดินทางไปที่ไหน และเมื่อถึงเวลาเหนื่อย HitchBOT ก็จะบอกกับเพื่อนร่วมทางว่าขอพักผ่อน ซึ่งหมายความว่าขอชาร์จแบตเตอรี่กับที่ชาร์จบนรถยนต์เสียหน่อย
หลังจากประสบความสำเร็จด้วยดีจากการเดินทางทั้งในแคนาดาและยุโรป นักวิจัยได้นำหุ่นยนต์นักโบกตัวนี้ไปทดสอบที่ถนนในอเมริกา โดยเริ่มต้นที่นครบอสตันทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ และตั้งเป้าว่าจะโบกรถให้ได้ระยะทาง 4,800 กม.
แต่สุดท้ายการเดินทางของเจ้าหุ่น HitchBOT ก็ต้องสิ้นสุดลงที่นครฟิลาเดลเฟีย ห่างจากนครบอสตันลงไปทางใต้เพียง 480 กม.เมื่อมีคนมือบอนทำลายมันจนแหลกละเอียดจนเกินเยียวยา และกองทิ้งไว้ข้างถนน
มีเพียงข้อความปรากฏทางเว็บไซต์ของ HitchBOT ระบุว่า “โอ้! ไม่! ร่างกายของฉันเสียหายซะแล้ว บางครั้งสิ่งร้ายๆก็เกิดขึ้นกับหุ่นยนต์ดีๆได้เหมือนกัน การเดินทางของฉันคงต้องสิ้นสุดลงแค่นี้ แต่ความรักของฉันที่มีมนุษย์ทุกคนจะไม่สิ้นสุดลงไปด้วย ขอขอบคุณเพื่อนๆทุกคน”
ล่าสุด คุณ Frauke Zeller และคุณ David Smith เผยว่าตนได้รับข้อเสนอมากมายจากทุกสารทิศ เพื่อให้ชุบชีวิตหุ่นยนต์นักโบกตัวนี้ขึ้นมาใหม่ นั่นหมายความว่าอีกไม่นาน เราคงจะได้เห็นหุ่นยนต์นักโบกตัวใหม่ นั่งอยู่ข้างถนน เพื่อรอให้คนขับรถใจดีเปิดประตูรับ แล้วพามันโดยสารไปด้วย ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลที่ไหนก็ตาม
(ผู้สื่อข่าว Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)
คลิปวิดีโอ HitchBOT จาก CBC News / Youtube