รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำลังเดินหน้าหาทางบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ตอนนี้สูงถึง 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ตามการรายงานของบลูมเบิร์ก
รัฐบาลชุดใหม่ของไทยที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน กำลังหารือกับธนาคารหลายแห่งเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความยากลำบากในการชำระหนี้บ้านและรถ และมีการคาดการณ์ว่าจะประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ในทางรายละเอียด การช่วยเหลืออาจรวมถึงการลดค่าธรรมเนียมกองทุนช่วยเหลือธุรกิจ แลกกับการผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้
หนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบันมีอัตราส่วนเป็น 90% ของจีดีพี ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ emerging market เกือบสองเท่า และสูงกว่าจุดห่วงกังวลที่ 80% ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ
เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ณ ธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า ระดับหนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล และอาจมีผลต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทที่ประชาชนและภาคเอกชนยังคงเผชิญผลกระทบมาจากการระบาดของโควิด-19
นโยบายประชานิยมและกระตุ้นเศรษฐกิจเองก็มีส่วนที่ส่งผลต่อระดับหนี้ที่สูงขึ้น นับตั้งแต่โครงการกองทุนหมู่บ้านในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โครงการรถคันแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปจนถึงการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนในช่วงโรคระบาด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อดีตนายกฯ ทักษิณ กล่าวในงานแสดงวิสัยทัศน์เมื่อเดือนสิงหาคมว่าไทยต้องหาทางปรับโครงสร้างหนี้ เพราะประชาชนกำลังติดกับดักหนี้สิน และมีข้อเสนอแนะว่า นโยบายการเงินที่ ธปท. ดูแล และนโยบายการคลังที่กระทรวงการคลังดูแล ควรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ยังเคารพความเป็นอิสระของ ธปท. อยู่
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยถือว่าเติบโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยอัตราการโตที่ 2% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล วางเป้าหมายการขยายตัวต่อปีอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับค่าเฉลี่ยสมัยที่ทักษิณบริหารประเทศเมื่อราว 20 ปีก่อน
ในการแถลงนโยบายที่รัฐสภาเมื่อเดือนกันยายน นายกฯ แพทองธารกล่าวว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกหนี้บ้านและรถ และจะไปแก้ไขหนี้นอกระบบผ่านเครื่องมือของสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทจัดการสินทรัพย์
เมื่อ 16 ตุลาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง ธปท. ฝืนแรงกดดันของรัฐบาลมาหลายเดือน
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวกับบลูมเบิร์กเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็น “ปัญหาที่ร้ายแรงมาก” โดยเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนโรคเบาหวานที่จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างเรื้อรังเป็นเวลายาวนาน
ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดำเนินไปพร้อมกับอัตราการฆ่าตัวตายที่ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.9 คนต่อ 1 แสนประชากรในปี 2566 อ้างอิงตามข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต เข้าใกล้กับระดับ 8.59 ต่อแสนประชากรในยุควิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540-2541
นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้ดูแลศูนย์ป้องกันฆ่าตัวตาย กล่าวว่า เห็นตัวเลขผู้ฆ่าตัวตายที่มีหนี้สินนอกระบบเพิ่มขึ้น และมองว่า “เจ้าหนี้มักพยายามประจานและข่มขู่ลูกหนี้ บางครั้งก็ถึงกับทำร้ายพวกเขาเพื่อเอาเงินคืน เมื่อคนรู้สึกว่าไม่เหลือความหวังอะไรในชีวิต แรงจูงใจในการฆ่าตัวตายก็จะเริ่มผุดขึ้นมา”
การสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปีนี้ คาดว่าหนี้ครัวเรือนของไทยจะโตขึ้น 8.4% ไปอยู่ที่ 606,378 บาทต่อครัวเรือน และประเมินว่าหนี้นอกระบบอาจจะมีมูลค่าอยู่ที่ 10-20% ของจีดีพี หมายความว่าหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทยอาจจะมีมูลค่ามากกว่าจีดีพี
ดีปาลี เซธ-ชาเบรีย นักวิเคราะห์จากเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้ง มองว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่ไม่มีความยั่งยืน และคาดว่าระดับหนี้สินจะทยอยหดตัวลงต่อเนื่องเล็กน้อยในไม่กี่ปีข้างหน้า
- ที่มา: บลูมเบิร์ก
กระดานความเห็น