ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยสหรัฐค้นพบความสัมพันธ์ของคู่รักที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกับปัญหาการมีบุตรยาก


Baby
Baby
คณะนักวิจัยที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติหรือ National Institutes of Health (NIH) ร่วมกับนักวิจัยที่ University of Buffalo และ Emory University ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างสามีภรรยาชาวอเมริกัน 501 คู่ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ 2005 - 2009 ซึ่งล้วนเป็นคู่รักที่พยายามจะมีบุตร และพบว่ายิ่งคู่รักนั้นมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเท่าไร ก็ยิ่งใช้เวลานานขึ้นกว่าจะมีบุตร

นักวิจัยพบด้วยว่า หากผู้หญิงเป็นฝ่ายที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ขณะที่ผู้ชายมีระดับคอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ภาวะการมีบุตรยากก็เกิดขึ้นเช่นกัน ในทางกลับกันหากผู้ชายเป็นฝ่ายที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ส่วนคอเลสเตอรอลของผู้หญิงอยู่ในระดับปกติ ความล่าช้าของการมีบุตรนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นมากนัก

คุณ Enrique Schisterman หัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยาของ NIH ผู้นำคณะนักวิจัยชุดนี้ชี้ว่า คอเลสเตอรอลมีส่วนสำคัญต่อการผลิตฮอร์โมนต่างๆ เช่นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย และฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ซึ่งระดับคอเลสเตอรอลที่มากหรือน้อยเกินไปก็สามารถส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ได้

คุณ Schisterman ระบุว่าระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสมคือปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากได้ โดยตามตารางอ้างอิงของ National Institutes of Health ระบุว่า ระดับคอเลสเตอรอลรวมที่เหมาะสมนั้นคือต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถ้าอยู่ระหว่าง 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตรหมายความว่าค่อนไปทางสูง ถ้าเกิน 240 ก็ถือว่าสูง

นักวิจัยผู้นี้ชี้ว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับคอเลสเตอรอลกับภาวะการมีบุตรยากมาก่อน เนื่องจากยากที่จะหากลุ่มตัวอย่างสามีภรรยาที่ต้องการมีบุตรพร้อมๆกันเป็นร้อยๆคู่ และต้องติดตามคนกลุ่มนี้เป็นเวลานานหลายปี งานวิจัยชิ้นนี้จึงถือเป็นชิ้นแรกที่เปิดเผยถึงการค้นพบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ย้ำว่า ผู้ที่ต้องการมีบุตรไม่ควรใช้ยาลดคอเลสเตอรอล เช่น Lipitor เข้าช่วยในการลดระดับคอเรสเตอรอลในเลือด เพราะอาจมีผลข้างเคียงในด้านอื่นได้ แต่ควรใช้วิธีปรับเปลี่ยนกิจกรรมประจำวัน ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หรือออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลจะดีกว่า

รายงานเรื่องความสัมพันธ์กันระหว่างระดับคอเลสเตอรอลในเลือดกับการมีบุตรยากนี้ เผยแพร่ในวันอังคารในเว็บไซต์ของวารสารการแพทย์ Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism

รายงานจาก Washington Post และ NIH.com / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG