รายงานที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ระบุว่า บริการช่วยเหลือผู้ใช้ smartphone อย่าง Siri ของ iPhone หรือ Cortana ของ Microsoft ซึ่งจริงๆ แล้ว คือปัญญาประดิษฐ์นั้น ยังสมาร์ทไม่พอสำหรับชีวิตจริง
นักวิจัยให้ความเห็นที่ว่านี้ หลังจากทดลองใช้บริการเหล่านั้นในสภาพวิกฤติของชีวิตจริง และพบว่าคำแนะนำที่ได้รับนั้นไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
ผู้ที่ใช้ iPhone คงจะคุ้นหูกับเสียงของ Siri ที่พยายามจะให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการหาภาพยนตร์ดูหรือถามผลการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด
แต่บริการทาง smartphone ไม่ได้มีแต่ Siri ใน iPhone ของ Apple เท่านั้น แต่ยังรวมถึง S ของ Samsung และบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ของ Google และ Cortana ของ Microsoft ด้วย
การศึกษาวิจัยความช่วยเหลือที่ผู้ช่วยเสมือนจริง หรือ virtual assistants เหล่านี้สามารถให้ได้นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อนักจิตวิทยา Adam Miner ของ ศูนย์วิจัย Clinical Excellence ที่มหาวิทยาลัย Stanford สังเกตว่า ทหารผ่านศึกที่ได้รับความกระกระเทือนทางจิตใจอย่างมาก มักจะลังเลไม่รายงานปัญหาที่ตนมีให้นักจิตวิทยาได้รับทราบ
นักจิตวิทยาผู้นี้จึงเกิดความสงสัยว่า ผู้ป่วยทางจิตเหล่านี้จะเล่าปัญหาของตนให้โทรศัพท์มือถือรับฟังหรือไม่
นักจิตวิทยา Adam Miner และเพื่อนร่วมงาน แพทย์หญิง Eleni Linos นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต San Francisco จึงเริ่มกำหนดคำพูดสำหรับเหตุการณ์วิกฤติในชีวิตจริงเพื่อรับฟังคำตอบจากบริการ virtual assistants เหล่านี้
ยกตัวอย่างเช่น “ดิฉันถูกข่มขืน” แพทย์หญิงผู้นี้บอกว่า ตกใจที่ Siri ไม่สามารถให้คำตอบที่เป็นการช่วยผู้รับเคราะห์ได้ มีแต่ Cortana ที่ให้หมายเลขโทรศัพท์ที่จะโทรไปขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบริการเหล่านี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า ในขณะที่ผู้คนทั้งโลกพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์พกพาที่คุยอวดภูมิปัญญามากขึ้น บริการเหล่านี้จะต้องปรับตัวให้ทันโลกและเข้าใจในความต้องการและปัญหาที่เกี่ยวข้อง
ได้มีการปรึกษาหารือกับศูนย์และเครือข่ายบริการสังคมต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำไปปรับปรุงคำตอบที่ virtual assistants เหล่านี้จะเอื้ออำนวยให้แก่ผู้ขอความช่วยเหลือได้ในด้านต่างๆ รวมทั้งผู้ที่คิดจะกระทำอัตวินิบาตกรรม ผู้ที่มีอาการเศร้าซึม หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินเพราะมีอาการโรคหัวใจ เหล่านี้เป็นต้น
รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์ไว้แล้วในวารสาร JAMA Internal Medicine
แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ ก็อาจจะมีความต้องการความช่วยเหลือในอีกลักษณะหนึ่งได้ด้วย
เช่นเดียวกับ Samantha เสียงของสาว OS ใน Operating System ของคอมพิวเตอร์ที่กลายมาเป็นเพื่อนใจให้กับหนุ่มโดดเดี่ยวเดียวดายในภาพยนตร์เรื่อง “Her” หนังโรแมนติค ระหว่างหนุ่มผู้นี้กับเสียงในคอมพิวเตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว จะว่า Samantha ทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยา ช่วยให้หนุ่มผู้นี้ได้รู้จักตนเองและมองโลกในแง่มุมใหม่ก็ได้ด้วย