ปัจจุบัน ผู้สูงอายุในยุโรปเริ่มมีจำนวนมากกว่าคนหนุ่มสาว ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงมีคำเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่จะหันมาใช้ชีวิตแบบถูกสุขลักษณะกันมากขึ้น และยังคาดการณ์ด้วยว่า ประเทศต่าง ๆ อาจได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากปัญหาในเรื่องของอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
รายงานฉบับใหม่จากองค์การอนามัยโลกพยายามรณรงค์ให้ชาวยุโรปใช้ชีวิตแบบถูกสุขลักษณะโดยแนะนำให้รับประทานอาหารที่ทำจากผลิตภัณฑ์ที่สดใหม่โดยไม่ต้องเติมน้ำตาล ไขมัน และเกลือ อีกทั้งยังแนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่เกิดจากการเป็นโรคอ้วนอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกระบุถึงต้นตอของปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ในหมู่คนชรา ซึ่งก็คือการขาดการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากเกินไปนั่นเอง
ข้อมูลสถิติจากสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า ในปีหน้านี้ผู้สูงวัยในยุโรปที่เข้าสู่วัยเกษียณโดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 65 ปี ก็จะมีจำนวนแซงหน้าผู้ที่มีอายุ 15 ปีแล้ว และมีคำเตือนว่าประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นนั้นจะต้องเผชิญกับความปัญหาทางสังคม การเงิน และสุขภาพ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี โดยชี้ว่าการที่อายุมากขึ้น ไม่จำเป็นมาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน และภาวะสมองเสื่อม หากมีการเตรียมรากฐานสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
สตีเฟ่น วิททิง ที่ปรึกษาด้านเทคนิคการกีฬาและสุขภาพขององค์การอนามัยโลกในยุโรป กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเริ่มลงทุนในการป้องปัญหาสุขภาพในวัยชราแล้ว และว่า การแพร่ระบาดของโควิดได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงกว่าสามารถต้านทานอาการเจ็บป่วยของโรคนี้ได้ดีกว่าอีกด้วย
เขากล่าวต่อไปว่า “มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการไม่ออกกำลังกาย การมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน และการเป็นโรคอ้วน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่ออาการของโรคโควิดที่รุนแรงและโควิดระยะยาว ดังนั้น นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการลงทุนเพื่อการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุฉุกเฉินในอนาคต การเกิดโรคระบาดในอนาคต เหตุการณ์ความร้อนและเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในทุกกลุ่มประชากร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการลุงทุนที่คุ้มค่า
เจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลกผู้นี้กล่าวด้วยว่า การที่ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ย่ำแย่นั้น ทำให้ยุโรปต้องเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วหลายพันล้านยูโร
รายงานของ OECD ที่เผยแพร่ไปเมื่อต้นปีนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนเงินที่ยุโรปต้องสูญเสียไปในเรื่องของปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการไม่ออกกำลังกาย และมีการคาดการณ์ว่า อาจสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 8 พันล้านยูโร หากผู้คนออกกำลังกายกันมากขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO ในเรื่องของระดับการออกกำลังกาย และนี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในการออกกำลังกายและใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ จะช่วยประหยัดค่าหมอค่ายาได้
ตามรายงานของ WHO ในยุโรปแนะนำให้ผู้สูงวัยสุขภาพดีที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลางเป็นเวลาอย่างน้อยสองชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นการเดินเร็วก็ได้ ส่วนผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงกว่า ควรออกกำลังกายแบบหนัก ๆ เป็นเวลา 75 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น ว่ายน้ำหรือ วิ่งจ๊อกกิ้ง
ขณะเดียวกันรายงานยังชี้ด้วยว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สูงอายุจะต้องออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละสองวันเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น และป้องกันการหกล้ม และสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ควรออกกำลังกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
WHO เผยว่า “90% ของการเสียชีวิตในยุโรปเกิดจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่โรคติดต่อ นอกจากนี้ราว 85% ของผู้พิการก็เกิดจากสาเหตุเดียวกัน สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคที่ไม่ติดต่อนี้ ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นหากสามารถรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และลดระยะเวลาที่ต้องทนทุกข์อยู่กับความทุพพลภาพเนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ ก็จะช่วยให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการส่งเสริมให้มีการควบคุมดูแลสุขภาพของตนเอง แต่ WHO กล่าวว่าจำเป็นต้องมีนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมนี้
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น