กรณีการยิงสังหารหมู่เมื่อเร็วๆนี้ในกรุงวอชิงตัน ทำให้ประเด็นการโต้แย้งเรื่องการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน มีผลการวิจัยทางการแพทย์ที่วิเคราะห์การมีอาวุธปืนในครอบครองกับอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืน และปัญหาโรคจิตที่ยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยทั้งสามนี้
แพทย์หญิง Janis Orlowski หัวหน้าศูนย์การแพทย์อุบัติเหตุของโรงพยาบาล Medstar Washington ซึ่งให้การรักษาพยาบาลผู้รับเคราะห์จากกรณีการยิงสังหารหมู่ที่อู่กองทัพเรือในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า แม้เธอจะเป็นหัวหน้าศูนย์การแพทย์ใหญ่มากแห่งหนึ่ง ก็คิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่มีการยิงสังหารคนหลายคนและที่ได้รับบาดเจ็บก็มีเป็นจำนวนมาก
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีกรณีการยิงสังหารผู้คนจำนวนมากในหลายรัฐในอเมริกา รวมทั้ง Colorado, Arizona, Texas, Virginia, และ Connecticut
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิในการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามรัฐธรรมนูญของประเทศกับความปลอดภัยของผู้คนในสังคมขึ้นมาถกเถียงกัน และได้มีความพยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในขณะเดียวกัน วารสาร American Journal of Medicine ตีพิมพ์รายงานการวิจัยของคณะแพทย์ ซึ่งเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนในประเทศที่ประชาชนจำนวนมากมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง กับอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนในประเทศที่การเป็นเจ้าของอาวุธปืนเป็นเรื่องหายาก
ผลของการวิเคราะห์ระบุว่า คำกล่าวอ้างที่ว่า การมีอาวุธปืนทำให้ประเทศมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่เป็นความจริง ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า อเมริกา ซึ่งมีปืนต่อหัวเป็นจำนวนสูงที่สุดในโลก มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงที่สุด ในขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งผู้คนมีอาวุธปืนในครอบครองน้อยมาก มีอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในการยิงสังหารหมู่ในบางกรณี มีประเด็นเรื่องมือปืนเป็นโรคจิตแต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาขึ้นมา อย่างในกรณีที่เมือง Aurora ในรัฐ Colorado, Tucson ในรัฐ Arizona และ Newtown ในรัฐ Connecticut และแพทย์บางราย อย่าง จิตแพทย์ Eliot Sorel ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย George Washington ให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจิต ที่ไม่ได้รับการบำบัดรักษา จะมีความรุนแรงมากกว่าคนอื่นๆ
รายงานของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติกล่าวไว้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคจิตอย่างหนักมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรงถ้าอาการกำเริบหนัก มึนเมาหรือเสพย์ยาเสพติด และว่าส่วนใหญ่แล้วคนเหล่านี้จะไม่ก่อความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยชุดนี้ ยืนยันว่ามีสหสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์อย่างสูงระหว่างจำนวนอาวุธปืนต่อหัวในประเทศกับอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืน
ส่วนประเด็นเรื่องผู้ป่วยเป็นโรคจิต นักวิจัยสำรวจดูตัวเลขขององค์การอนามัยโลก สถาบันสถิติทางสุขภาพแห่งชาติ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ และลงความเห็นว่า การมีผู้ป่วยเป็นโรคจิตในอัตราสูงไม่เป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าจะมีการเสียชีวิตจากอาวุธปืนในระดับสูงในประเทศนั้นๆ
คณะนักวิจัยให้ความเห็นสรุปไว้ว่า แม้สหสัมพันธ์จะไม่ระบุความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อย่างน้อยผลการวิจัยครั้งนี้ทำลายสมมุติฐานที่นำมากล่าวอ้างกันอย่างกว้างขวางว่า ประเทศที่ประชาชนมีอาวุธปืนในครอบครองในอัตราสูงมีความปลอดภัยมากกว่าประเทศที่ผู้คนแทบจะไม่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง