หนังสือคู่มือฉบับใหม่ของสถาบันกุมารเวชอเมริกันแนะนำว่า ผู้ปกครองไม่ควรกังวลมากเกินไปเมื่อเด็กมีไข้ขึ้นในระดับปกติไม่สูงเกินไปหรือไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส รายงานสำรวจของกุมารเวชอเมริกันชี้ว่ากว่าครึ่งของผู้ปกครองเชื่อกันว่าระดับอุณหภูมิร่างกายไม่ถึง 38 องศาถือว่ามีไข้ ในขณะที่ผู้ปกครองราว 25% ตอบว่าตนจะให้ยาลดไข้ทันทีเมื่อเด็กตัวร้อนราว 37.8 องศาเซลเซียสหรือ 100 องศาฟาเรนไฮต์
คุณหมอ Kimberly Giuliano แห่งโรงพยาบาลเด็ก Cleveland Clinic ยินดีที่คู่มือฉบับใหม่ของสถาบันกุมารเวชอเมริกันเน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะส่วนตัวคุณหมอเองเชื่อว่าการที่เด็กตัวร้อนมีประโยชน์บางประการเช่นกัน กุมารแพทย์ผู้นี้บอกว่าเด็กตัวร้อนหมายความว่าร่างกายของเด็กกำลังต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสตามกลไกทางธรรมชาติ เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันบางส่วนทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการที่เด็กตัวร้อนจึงถือเป็นเรื่องที่ดี
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังบอกด้วยว่าเมื่อมีไข้จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการติดเชื้อได้เร็วขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันช่วยชะลอการเติบโตของแบคทีเรียและไวรัส และยังช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคอีกด้วย
แต่สำหรับบรรดาคุณแม่เช่นคุณ Kate Hjelm บอกว่าแม้เธอทราบดีว่าลูกตัวร้อนเพราะระบบภูมิคุ้มกันกำลังทำงานต่อสู้เชื้อโรค แต่ในฐานะคนเป็นแม่ก็อดไม่ได้ที่จะให้ลูกทานยาลดไข้เพื่อให้ลูกรู้สึกดีขึ้น คุณแม่ผู้นี้บอกว่าเมื่อลูกตัวร้อนร้องไห้โยเย นอนไม่หลับ ยาลดไข้คือสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวและนอนหลับพักผ่อนได้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับเรื่องที่ต้องให้เด็กพักผ่อนมากๆเมื่อมีไข้ตัวร้อน โดยบอกว่านั่นคือวิธีรักษาตามธรรมชาติซึ่งดีที่สุดสำหรับเด็ก ถึงกระนั้นก็ดี คุณหมอ Kimberly Giuliano ไม่ลืมแนะนำว่า ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องปลุกลูกตื่นกลางดึกทุก 4 หรือ 6 ชม.เพื่อให้ทานยาแก้ปวดลดไข้ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ นอกเสียจากว่าเด็กจะตื่นขึ้นมาเอง
คู่มือฉบับใหม่ของสถาบันกุมารเวชอเมริกันเตือนว่าการให้ยาลดไข้กับเด็กนั้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆเช่น ทำให้อาการป่วยที่แท้จริงไม่แสดงออกมา หรือทำให้หายป่วยช้า ตลอดจนอาการที่เกิดจากการใช้ยาในปริมาณมากเกินไป คู่มือยังแนะนำให้ผู้ปกครองควรสังเกตุให้ดีว่าเด็กมีอาการป่วยทรุดลงหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องให้เด็กดื่มน้ำเยอะๆเวลามีไข้