ซีรีส์สารคดี “แฮร์รีและเมแกน” เปิดตัวสามตอนแรกทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเสนอเรื่องของราวของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน พระชายา เกี่ยวกับความขัดแย้งกับราชวงศ์อังกฤษ การออกมาวิจารณ์สื่ออังกฤษ และการเหยียดเชื้อชาติจากสังคมที่ทั้งสองพระองค์เชื่อว่า ทรงเผชิญระหว่างที่สื่อทำข่าวความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ตามรายงานของเอพี
ซีรีส์สามตอนแรกนี้ตีแผ่ความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือพิมพ์แทบลอยด์และราชวงศ์อังกฤษ รวมถึงประวัติศาสตร์การเหยียดเชื้อชาติในจักรวรรดิอังกฤษ และกระแสการเหยียดเชื้อชาติที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยจะมีการปล่อยสารคดีอีกสามตอนในวันที่ 15 ธันวาคมนี้
สารคดีนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านทางการสัมภาษณ์ทั้งสองพระองค์ บรรดาพระสหาย และผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อชาติและสื่อ โดยไม่มีความเห็นของอีกฝ่าย และไม่ได้ระบุถึงความเห็นจากองค์กรสื่อใด ๆ
เจ้าชายแฮร์รีตรัสในซีรีส์ตอนหนึ่งว่า ทั้งสองพระองค์ทรงเผชิญกับ “อคติโดยไม่รู้ตัว” ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร แต่หลังจากที่มีการตระหนักถึงอคติดังกล่าวแล้ว ก็ควรมีการปรับใหม่ให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ การปฏิบัติของสื่อต่อเมแกน และการที่ทั้งสองพระองค์ทรงรู้สึกว่า ราชวงศ์ขาดความเห็นใจต่อการที่เมแกนถูกสื่อปฏิบัติ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทั้งสองพระองค์ทรงขอยุติการปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะพระบรมวงศานุวงศ์เมื่อเกือบสามปีที่แล้ว และทรงย้ายมาประทับในเมืองมอนเทซิโต รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทั้งสองทรงมีรายได้จากการทำสัญญากับบริษัทเน็ตฟลิกซ์และสปอติฟาย
สารคดีชุดนี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวครั้งล่าสุดของทั้งสองพระองค์ หลังประทานบทสัมภาษณ์แก่สื่ออเมริกันต่าง ๆ รวมถึงการสัมภาษณ์นานสองชั่วโมงกับโอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดัง เมื่อปีที่แล้ว
เดวิด ไฮค์ ประธานบริหารของ Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านมูลค่าของแบรนด์ ที่วิเคราะห์มูลค่าของราชวงศ์อังกฤษต่อเศรษฐกิจอังกฤษ ระบุว่า เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนทรงต้องการสร้างจุดยืนที่ชัดเจนในสังคมอเมริกัน ทั้งการมีชื่อเสียงและช่องทางรายได้ที่รออยู่ข้างหน้า ผ่านการทำทางสารคดีชุดนี้
ไฮค์ระบุว่า ทั้งสองทรงพยายามเป็น “ครอบครัวคาร์ดาเชียน” และใช้ชื่อเสียงทั้งด้านดีและลบของราชวงศ์อังกฤษเพื่อก้าวไปถึงจุดดังกล่าว เขายังเห็นว่า จะไม่มีใครสนใจทั้งสองเลยหากไม่ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์
สารคดีดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงเวลาสำคัญของราชวงศ์อังกฤษ โดยสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่สามทรงพยายามแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ยังคงมีบทบาทหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ความนิยมต่อพระองค์เอาชนะกระแสวิจารณ์ไปได้ตลอดที่ทรงครองราชย์ 70 ปี
กษัตริย์พระองค์ใหม่ของอังกฤษทรงต้องการแสดงว่า ราชวงศ์วินด์เซอร์สามารถสร้างเอกภาพในประเทศที่มีความแตกต่างสูงได้ โดยทรงพบปะกับกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาต่าง ๆ ในช่วงแรกที่ทรงขึ้นครองราชย์
การอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน อดีตนักแสดงลูกครึ่งผิวขาวและผิวดำชาวอเมริกัน เคยถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เป็นตัวแทนนำเสนอประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องราวโรแมนติคของทั้งสองพระองค์ก็อยู่ได้ไม่นาน หลังสื่ออังกฤษรายงานว่าเมแกนเป็นคนเอาแต่ใจและกลั่นแกล้งพนักงานของเธอ
สารคดีชุดนี้เปิดด้วยวิดีโอไดอารีที่เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนบันทึกทางโทรศัพท์เมื่อเดือนมีนาคม 2020 โดยเจ้าชายตรัสว่า ทรงมีหน้าที่ “เปิดโปงการแสวงหาผลประโยชน์และการติดสินบน” ในสื่ออังกฤษ และทั้งสองพระองค์ “รู้ความจริงทั้งหมดที่คนอื่นไม่รู้”
จากนั้น ทั้งสองทรงบอกเล่าเรื่องราวที่ทั้งสองทรงได้มาพบกัน ก่อนที่เจ้าชายแฮร์รีจะทรงย้อนเรื่องราวการตรวจสอบจากสื่อที่เมแกนเผชิญ ซึ่งทำให้เจ้าชายทรงนึกถึงการที่เจ้าหญิงไดอานา พระมารดาของพระองค์ ทรงถูกปฏิบัติก่อนสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะถูกปาปารัสซีขับรถไล่ตาม
เจ้าชายแฮร์รีและผู้บรรยายสารคดีคนอื่น ๆ ระบุว่า สำนักพระราชวังอังกฤษมีส่วนรับผิดชอบด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากสำนักพระราชวังอนุญาตให้หนังสือพิมพ์หกฉบับเข้าถึงวังได้เป็นพิเศษ โดยพวกเขาเห็นว่า หนังสือพิมพ์เหล่านี้รู้สึกว่าตนควรมีสิทธิพิเศษในการรับรู้รายละเอียดของสมาชิกราชวงศ์ที่มีรายได้มาจากภาษีของชาวอังกฤษ
เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนตรัสว่า เดิมทีนั้น ทั้งสองทรงพยายามปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางวังที่ให้พวกเขาเงียบต่อกระแสข่าวต่าง ๆ แต่ทั้งสองทรงรู้สึกว่า ต้องทรงออกมาบอกเล่าเรื่องราวจากฝั่งตน เนื่องจากเมแกนถูกปฏิบัติแตกต่างออกไป โดยเจ้าชายทรงเชื่อว่าเนื่องจากเชื้อชาติของเมแกน
เดวิด โอลูโซกา นักประวัติศาสตร์และนักเขียน กล่าวในสารคดีชุดนี้ว่า อคติด้านเชื้อชาตินี้หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิอังกฤษ ที่เคยจับคนดำเป็นทาสและแสวงหาความร่ำรวยจากอาณานิคมในแอฟริกา เอเชีย และแคริบเบียน โดยมีชาวผิวดำและชาวเอเชียนจำนวนมากย้ายมายังอังกฤษนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น ทำให้อังกฤษเปลี่ยนโฉมไป
โอลูโซการะบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสื่อในอังกฤษยังเป็นอุตสาหกรรมคนขาว โดยแม้ประชากรอังกฤษ 3.5% จะเป็นคนผิวดำ แต่มีผู้สื่อข่าวในอังกฤษเพียง 0.2% ที่เป็นคนผิวดำ ทำให้การทำข่าวหรือการคิดพาดหัวยังทำโดยผู้สื่อข่าวในห้องข่าวที่เป็นคนขาวแทบทั้งหมด
ทั้งนี้ ประเด็นด้านเชื้อชาติเป็นประเด็นสำคัญที่ราชวงศ์อังกฤษเผชิญ หลังเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนประทานบทสัมภาษณ์กับวินฟรีย์ โดยเมแกนกล่าวว่า ระหว่างที่เธอตั้งครรภ์บุตรคนแรก สมาชิกราชวงศ์อังกฤษรายหนึ่งเคยพูดถึงสีผิวของบุตรของเธอหลังคลอด
หลังการสัมภาษณ์ดังกล่าว เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารและพระเชษฐาของเจ้าชายแฮร์รี ทรงปกป้องราชวงศ์อังกฤษ โดยตรัสกับผู้สื่อข่าวว่า “เราไม่ได้เป็นครอบครัวเหยียดเชื้อชาติ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หญิงผิวดำผู้หนึ่งระบุว่า เธอถูกสมาชิกราชวงศ์อาวุโสผู้หนึ่งถามซักไซ้ถึงแหล่งกำเนิดของเธอ ในงานเลี้ยงรับรองที่พระราชวัง สื่ออังกฤษสนใจเรื่องดังกล่าวจนกลบข่าวที่เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าหญิงเคทเสด็จเยือนนครบอสตันในสหรัฐฯ เพื่อรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม
- ที่มา: เอพี