ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพลเมืองชาวจีน ต้องรับมือกับการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศ แต่ล่าสุดมีรายงานว่าชาวเอเชียในหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับกระแสต่อต้านชาวจีนอย่างหนักหน่วงเช่นกัน
รายงานจาก เดอะการ์เดียนของอังกฤษ ระบุว่า มีนักศึกษาชาวอังกฤษเชื้อสายเวียดนาม ร้องเรียนเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติระหว่างเดินทางด้วยรถบัสสาธารณะ จากที่มีผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้เธออย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มีชาวเกาหลีเชื้อสายจีนที่ถูกเลือกปฏิบัติระหว่างพาลูกชายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อีกทั้งยังพบพฤติกรรมเข้าข่ายหวาดกลัวชาวต่างชาติ หรือ xenophobia โดยเฉพาะกับนักเรียนชาวจีนในโรงเรียนประจำที่อังกฤษด้วย
นอกจากนี้ มีรายงานเมื่อวันอังคาร ระบุว่า ร้านอาหารทะเลในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ ติดป้ายเตือนห้ามลูกค้าจีนเข้าร้าน และในวันเดียวกัน ทางสหภาพแรงงานผู้ให้บริการส่งอาหารในเกาหลีใต้ เรียกร้องให้ยุติการส่งอาหารในย่านที่มีคนจีนอยู่หนาแน่นในเกาหลีใต้
ที่แคนาดา มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเขตพื้นที่การศึกษาในออนทาริโอ เพื่อขอให้เด็กนักเรียนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีนในช่วงนี้หยุดการเรียน และให้ออกห่างจากผู้คนรอบข้างเป็นเวลาอย่างน้อย 17 วัน เพื่อสังเกตอาการ
ขณะที่นักธุรกิจชาวแคนาดาเชื้อสายจีน กังวลว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจชาวชาวจีนและชาวเอเชียที่นี่อย่างมาก จากเมื่อปี 2003 ที่มีการระบาดของโรคซาร์ส ทำให้ธุรกิจของชาวจีนที่นั่นรายได้ลดฮวบราว 40-80% ตามรายงานของ BBC
ข้ามไปที่ฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเอเชีย ต่างโพสต์เรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติและผู้คนมีท่าทีรังเกียจชาวเอเชียในฝรั่งเศส หลังการระบาดของโคโรนาไวรัส ทั้งถูกตะโกนใส่หน้าให้สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกไปข้างนอก ถูกไล่ให้กลับไปอยู่แต่ภายในบ้าน และถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสไปแล้ว โดยไม่มีใครให้การช่วยเหลือพวกเขาแต่อย่างใด
และที่ออสเตรเลีย นายดันแคน เพกก์ นักการเมืองชาวออสเตรเลีย ประกาศเตือนผู้คนในรัฐควีนส์แลนด์ ในระวังข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ ที่นำเสนอข่าวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีชาวเอเชียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมมัด แห่งมาเลเซีย ประกาศจะทำทุกวิถีทางในการจัดการกับข่าวปลอม ที่ทำให้เกิดความเกลียดชังผู้คนหลากหลายเชื้อชาติในมาเลเซีย และทางการเพิ่งจับกุมชาวมาเลเซียอย่างน้อย 5 คน ที่เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสผ่านทางช่องทางออนไลน์ ตามรายงานของ South China Morning Post