อังกฤษและอิตาลี ประกาศทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศ หลังจากอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก
เริ่มที่อังกฤษ ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 30,000 ล้านปอนด์ หรือราว 1.16 ล้านล้านบาท เพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลต่อประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งทุ่มงบอีก 5,000 ล้านปอนด์ให้กับทางกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดการกับโคโรนาไวรัสโดยเฉพาะ
สำหรับกรณีของอังกฤษ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 460 ราย และหนึ่งในนั้นคือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขนาดีน ดอรีส์ ที่ได้รับการยืนยันว่าล้มป่วยด้วยโคโรนาไวรัสจริงเมื่อวันอังคาร หลังจากเธอได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและเข้าพบนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษเป็นการส่วนตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ด้านอิตาลี นายกรัฐมนตรีจุสเซปเป คองเต้ แห่งอิตาลี ประกาศเมื่อวันพุธ ว่าจะใช้งบประมาณ 28,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 850,000 ล้านบาท ในการจัดการกับจัดการกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จากที่ตอนนี้อิตาลีกลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดนอกประเทศจีน ด้วยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 2,000 ราย และยอดเสียชีวิตพุ่งเกือบ 200 คน ภายในวันเดียว โดยตัวเลขล่าสุดของอิตาลี ติดเชื้อกว่า 12,000 คน และเสียชีวิตกว่า 800 คนแล้ว
ถัดมาที่ฝรั่งเศส รัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศส โอลิวิเยร์ เวราน สั่งเพิ่มมาตรการคุมเข้มในการสกัดโคโรนาไวรัส เน้นไปที่การสั่งปิดโรงเรียนและงดการเยือนสถานดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นถึง 50% ภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตตอนนี้อยู่ที่ 48 คน ติดเชื้อกว่า 2,200 คน แต่ในขณะนี้ฝรั่งเศสยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่เฟส 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของสถานการณ์โรคระบาดในฝรั่งเศส
ส่วนที่สหรัฐฯ เตรียมพิจารณามาตรการใหม่ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งกระเทือนกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบิน การเรียนการสอน งานประชุมสัมมนา และงานแสดงใหญ่ระดับประเทศมากมายให้ต้องยกเลิกกันเป็นจำนวนมาก
โดยในวันพฤหัสบดีนี้ ทางสภาผู้แทนราษฎรเตรียมผลักดันแผนช่วยเหลือชาวอเมริกันต่อสถานการณ์โคโรนาไวรัส ต่อที่ประชุมสภา โดยส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือ มีทั้งการให้ชาวอเมริกันทุกหย่อมหญ้าสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ตรวจเชื้อโคโรนาไวรัสได้ และการให้สิทธิลาโดยได้รับเงินค่าจ้าง
ขณะที่ สว.ชัค ชูเมอร์ จากพรรคเดโมแครต และวุฒิสมาชิกอีกหลายคน เตรียมยื่นหนังสือต่อประธษนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เดินหน้าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะปลดล็อคงบประมาณกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาทจาก FEMA มาใช้เพื่อรับมือกับโคโรนาไวรัส จากที่ปัจจุบันในอเมริกาพบผู้ติดเชื้อทะลุ 1,100 รายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเกือบ 40 ราย
ไปต่อที่อิหร่าน การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธ เป็นบรรยากาศแห่งการเฝ้าระวังเต็มขั้น เพราะสมาชิกสภาทุกคนสวมหน้ากากอนามัยกันหมด หลังจากมีรายงานจากสื่ออิหร่านที่ว่ารองประธานาธิบดี เอสชัค จาฮาร์กิริ ติดเชื้อโคโรนาไวรัส และหายไปจากการประชุมระดับสูงหลายครั้ง
นอกจากนี้สมาชิกในคณะรัฐบาลอิหร่านอีก 2 คนก็เพิ่งตรวจพบว่าติดเชื้อโคโรนาไวรัส ได้แก่ รัฐมนตรีวัฒนธรรม อาลี อาสการ์ มูเนซัน และเรซา ราห์มานี รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และภาคธุรกิจ
กลับมาที่ประเทศจีน ที่สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ภาคอุตสาหกรรมในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดของโคโรนาไวรัสและศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในประเทศจีน เริ่มกลับมาเดินเครื่องผลิตได้บางส่วนแล้วเมื่อวันพุธ หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางไปเยือนอู่ฮั่นเป็นครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาดหนัก นอกจากนี้ จีนเพิ่มมาตรการในการกักตัวเป็นระยะ 14 วันสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้ว
ปิดท้ายที่อินเดีย ทางการประกาศยกเลิกการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติ เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศ เมื่อวันพุธ ตามรายงานของ CNN โดยจะมีผลจนถึง 15 เมษายนนี้ รวมทั้งออกคำแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศในระยะนี้หากไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังสั่งให้ชาวอินเดียที่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ จีน อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี หลังจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ให้กักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน