ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เยอรมนีประกาศมาตรการคุมเข้มพรมแดนทางบกชั่วคราว


แฟ้มภาพ - จนท.ตำรวจเยอรมนีสั่งให้รถยนต์และรถบรรทุกหยุดที่บริเวณจุดข้ามแดนเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็ก เมื่อ 10 ต.ค. 2566
แฟ้มภาพ - จนท.ตำรวจเยอรมนีสั่งให้รถยนต์และรถบรรทุกหยุดที่บริเวณจุดข้ามแดนเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็ก เมื่อ 10 ต.ค. 2566

รัฐบาลเยอรมนีประกาศในวันจันทร์ ว่าจะดำเนินการคุมเข้มพรมแดนทางบกทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อเตรียมรับมือกับการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดปกติและการปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามต่าง ๆ อันรวมถึง แนวคิดลัทธิสุดโต่งในทัศนะของอิสลาม ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

มาตรการควบคุมดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 16 กันยายนนี้และมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 6 เดือน อ้างอิงจากแถลงการณ์ของกระทรวงกิจการภายในเยอรมนี

แนนซี เฟเซอร์ รัฐมนตรีกิจการภายในเยอรมนีกล่าวว่า รัฐบาลกรุงเบอร์ลินกำลังยกระดับการรักษาความมั่นคงภายใน โดยจะเดินหน้านโยบายคุมเข้มเพื่อจัดการกับการอพยพเข้าเมืองที่ไม่ปกติ

ทั้งนี้ เยอรมนีมีจุดยืนเข้มงวดเกี่ยวกับการอพยพเข้าประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในเวลานี้ รัฐบาลกรุงเบอร์ลินวุ่นอยู่กับการดำเนินการดังกล่าวให้เข้มแข็งขึ้น หลังมีแรงสนับสนุนในด้านนี้เพิ่มมาจากพรรค Alternative for Germany ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดพรรคแรกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐสำเร็จ

ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่มีผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seeker) กลุ่มหนึ่งก่อเหตุใช้มีดทำร้ายผู้คนในเยอรมนีจนมีผู้เสียชีวิต 3 คนเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับนโยบายอพยพเข้าเมืองของประเทศขึ้นทันที โดยในเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) เป็นผู้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

การประกาศนโยบายคุมเข้มที่พรมแดนของเยอรมนีครั้งนี้มีออกมาก่อนจะมีการเลือกตั้งในรัฐแบรนเดนเบิร์กที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ และพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกลางของรัฐมนตรีแนนซี เฟเซอร์ จะเผชิญหน้ากันเพื่อชิงอำนาจการควบคุมรัฐบาล

รอยเตอร์ระบุว่า การประกาศมาตรการคุมเข้มพรมแดนชั่วคราวนี้ยังอาจเป็นบททดสอบความสามัคคีภายในสหภาพยุโรปด้วย

เยอรมนีมีพรมแดนยาว 3,700 กิโลเมตรติดกับเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG