ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หนังกบมีประโยชน์ในการพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่


การคิดค้นพัฒนายาเพื่อใช้กำจัดเชื้อโรคที่ดื้อยานั้นกำลังเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน ล่าสุดนักชีวเคมีในสหอาหรับเอมิเรตส์ค้นพบวิธีสกัดสารจากผิวหนังกบมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อใช้กำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรียดื้อยา

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสารเคมีในผิวหนังกบเพื่อหาวิธีสกัดมาใช้เป็นยาปฏิชีวนะมานานหลายปีแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ผลเมื่อสารเคมีนั้นกลายเป็นพิษต่อมนุษย์ แต่ล่าสุดคุณ J Michael Conlon นักชีวเคมีและคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสหอาหรับเอมิเรตส์ ค้นพบวิธีกำจัดผลข้างเคียงจากการใช้สารเคมีในผิวหนังกบนั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะชนิดใหม่หลายร้อยชนิด

คุณ J Michael Conlon ระบุว่ากบอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่นชื้นแฉะ เหมาะแก่การเติบโตของจุลินทรีย์มานานอย่างน้อย 300 ล้านปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ผิวหนังกบจะวิวัฒนาการจนสามารถป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นได้ นักวิจัยผู้นี้ระบุถึงสารเคมีหลายชนิดจากผิวหนังกบมากกว่า 200 สายพันธุ์ทั่วโลก โดยใช้วิธีแยกลูกโซ่โมเลกุลของโปรตีนที่สามารถฆ่าเชื้อโรคออกมา แต่สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการนำสารเคมีนั้นมาใช้กับมนุษย์โดยไม่เกิดอันตราย

จากการคิดค้นทดลองสารเคมีจากผวหนังกบหลายชนิดในห้องทดลอง นักชีวเคมีผู้นี้สามารถพัฒนาสารประกอบชนิดใหม่ซึ่งเป็นพิษน้อยลงได้แล้ว และยังมีประสิทธิภาพในการต่อสู้เชื้อโรค 2 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่ม Staphylococcus aureus และกลุ่ม Acintobacter baumanni หรือที่เรียกว่า Iraqibacter เนื่องจากทหารที่บาดเจ็บในสงครามอิรัก มักจะติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้ คุณ Conlon เชื่อว่า สารที่สกัดได้จากผิวหนังกบซึ่งมีพิษน้อยลง จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนายาปฏิชีวนะหลายชนิดได้ในอนาคต เช่นนำมาใช้ผลิตขี้ผึ้งหรือครีมทาแผล ใช้รักษาแผลเน่าเปื่อยต่างๆ ใช้ผลิตยาทารักษาสิว หรือแม้แต่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในช่องปากหรือใช้ผลิตน้ำยาบ้วนปากนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การที่จะนำสารประกอบหรือตัวยาที่สกัดได้จากห้องทดลองไปผลิตเป็นยาวางขายตามร้านขายยาต่างๆได้นั้น ต้องใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านดอลล่าร์ ดังนั้นจึงต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทผลิตยารายใหญ่เพื่อนำยาที่สกัดจากสารในผิวหนังกบออกวางขายได้จริงๆ คุณ J Michael Conlon คาดหวังว่ายาที่ผลิตจากสารซึ่งสกัดจากหนังกบนี้น่าจะผ่านการทดสอบขั้นสุดท้ายและวางขายตามร้านขายยาต่างๆได้ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า

XS
SM
MD
LG