การประท้วงของ “กลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง” ที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศส กำลังสั่นคลอนการบริหารประเทศของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาคร็อง ท่ามกลางคำถามที่ว่า การประท้วงครั้งนี้คือการแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองแบบชั่วคราว หรือเป็นความพยายามท้าทายอำนาจรัฐบาลกรุงปารีส
นักประวัติศาสตร์บางคนระบุว่า การประท้วงของ “กลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง” ในฝรั่งเศส เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง “ศิลปะของการก่อจลาจล” ของชาวฝรั่งเศส ที่ไม่เหมือนประเทศไหนในโลก เพราะเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและความคิดสร้างสรรค์
เสื้อกั๊กสีเหลืองที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงครั้งนี้ เป็นเสื้อแจ็คเก็ตแบบสะท้อนแสงที่ผู้ขับขี่รถยนต์ในฝรั่งเศสมักพกติดรถเอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน
เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์มาแล้วที่กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองได้ก่อจลาจลในกรุงปารีส ปิดกั้นถนนสำคัญหลายเส้นทางทั่วประเทศ สกัดการเข้าถึงโรงกลั่นและโกดังเก็บน้ำมัน และทำให้เกิดการจราจรติดขัดในหลายเมืองใหญ่ รวมทั้ง กรุงปารีส เมืองมาร์เซย์ทางเหนือ และเมืองลีลล์ทางใต้ของประเทศ
การประท้วงลุกลามไปเป็นความรุนแรงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เปลี่ยนสภาพกรุงปารีสให้กลายเป็นเหมือนพื้นที่สงคราม กลุ่มผู้ประท้วงพากันเผารถยนต์ ทุบกระจกและปล้นร้านค้า และปะทะกับตำรวจปราบจลาจล ถือเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี
เดิมทีการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองครั้งนี้ จัดตั้งผ่าน Facebook และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ จุดประสงค์เพื่อต่อต้านนโยบายขึ้นภาษีน้ำมันที่จะมีผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น โดยรัฐบาลตั้งใจจะใช้มาตรการนี้เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล และระดมทุนเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด
แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มรากหญ้าที่ไร้ผู้นำที่แท้จริงนี้ กลับได้รับแรงหนุนมากขึ้นเรื่อยๆ จากมวลชนในเขตชนบทและเมืองเล็กๆ ของฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ไม่พอใจต่อนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมาคร็อง ผู้ถูกมองว่าเน้นช่วยเหลือนักธุรกิจและคนร่ำรวยในฝรั่งเศส ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
บรรดากลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองพากันเรียกประธานาธิบดีมาคร็องว่า “ประธานาธิบดีของคนรวย” ที่เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของคนจนและชนชั้นกลาง จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การประท้วงครั้งนี้คือการแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองแบบชั่วคราวของกลุ่มผู้ประท้วงที่ไม่พอใจต่อนโยบายภาษีน้ำมัน หรือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐบาลกรุงปารีสที่อาจยกระดับไปเป็นความพยายามล้มรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประท้วงเรียกร้องนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งต้องการให้ยกเลิกนโยบายลดภาษีสำหรับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ มีผู้ประท้วงบางส่วนที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีมาคร็องลาออก และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ การประท้วงครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นจากผู้นำแรงงานหรือฝ่ายค้าน แต่มีลักษณะคล้ายกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่า Occupy ในอเมริกา เมื่อหลายปีก่อน ดังนั้นการนั่งลงเจรจาต่อรองกับผู้นำกลุ่มเพื่อหาทางออกนั้นอาจไม่ได้ผลเหมือนกับการประท้วงครั้งก่อนๆ
นักวิเคราะห์เชื่อว่าสิ่งที่ผู้นำของฝรั่งเศสทำได้ คือการพิจารณากลุ่มผู้ประท้วงนี้อย่างถี่ถ้วนว่ามีจุดประสงค์อย่างไร และหามาตรการที่เหมาะสมมารับมือ รวมทั้งภาวนาให้กลุ่มผู้ประท้วงนี้สลายตัวไปเองเมื่อรัฐบาลยอมรับและปรับเปลี่ยนตามที่พวกเขาต้องการ หลังจากที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศชะลอการขึ้นภาษีเชื้อเพลิงเป็นเวลา 6 เดือน
ถึงกระนั้น การที่รัฐบาลยอมโอนอ่อนผ่อนตามผู้ประท้วงนี้ มิใช่การรับประกันว่า “กลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง” จะสลายไปจากท้องถนนในกรุงปารีส เพราะดังที่นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ระบุไว้เกี่ยวกับ “ศิลปะของการก่อจลาจล” ของชาวฝรั่งเศส ที่ไม่เหมือนประเทศไหนในโลก และไม่อาจคาดเดาทิศทางของการประท้วงได้เช่นกัน
(ทรงพจน์ สุภาผล ถ่ายทอดรายงานจากผู้สื่อข่าว Jamie Dettmer)