“ เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2019 นะคะ เราก็ได้รับการติดต่อติดต่อจาก ททท. ให้ไปแสดงในงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในวอชิงตันดีซี เราก็จัดนาฏศิลป์และดนตรีไปแสดง พอไปแสดงเสร็จแล้วก็เหมือนปกติค่ะแล้วก็ให้ให้ใบขับขี่กับเจ้าหน้าที่ ททท. แล้วก็เซ็นรับเงินค่าที่เราไปแสดงนาฏศิลป์กับดนตรี”
นางสาวสุธีรา นาควัชระ ผู้ก่อตั้งคณะนาฎศิลป์โสมภา (Somapa Thai Dance Company) ในแถบกรุงวอชิงตัน เปิดเผยกับ วีโอเอ ภาคภาษาไทย ถึงเหตุผลและที่มาของการร้องเรียน และแจ้งความดำเนินคดี กับอดีตผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. สาขานครนิวยอร์ก ที่แอบอ้างใช้สำเนาใบขับขี่ของเธอเป็นหลักฐานในการเบิกค่าใช้จ่าย โดยไม่ถูกต้องเมื่อปีพุทธศักราช 2562
จับโป๊ะ 4 พันเหรียญฯ แอบอ้างเอกสารเบิกเงินค่าเดินทาง
“ทาง ผู้อำนวยการ และ รอง ผอ.ททท. สาขานิวยอร์กค่ะ เอาใบขับขี่ของเราแล้วก็เอาลายเซ็น ก๊อปปี้ ลายเซ็นต์ของเราไปปลอมแปลงเอกสารเพื่อจะบอกว่า เราเนี่ยไปรับจ้างขับรถให้ ททท. คือเป็นค่ารถ ค่าคนขับรถ ค่าตัว 4 พัน เหรียญ(ดอลลาร์ สหรัฐฯ) แล้วก็มีเขียนว่าชื่อดิฉันเป็นคนรับเงิน 4 พันเหรียญนี้ ซึ่งก็คือมันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะว่าตอนนั้นเราก็ไม่ได้อยู่ เราไปเที่ยวเมืองไทยพอดี แล้วเราก็ไม่เคยไปขับรถให้ใครด้วยค่ะ เราก็เลยทราบแล้วล่ะว่ามีเรื่องทุจริต”
คณะนาฎศิลป์โสมภา เป็นกลุ่มนักแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยและเอเชียเพียงไม่กี่คณะในแถบกรุงวอชิงตัน ที่มักจะได้รับการติดต่อให้ไปแสดงในงานต่างๆ ในสหรัฐฯ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะจากหน่วยงานของไทย เช่น สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจำเป็นต้องมอบสำเนาเอกสารเป็นหลักฐานในการรับค่าตอบแทน
เอาใบขับขี่ของเรา แล้วก็เอาก๊อปปี้ลายเซ็นต์ของเราไปปลอมแปลงเอกสารเพื่อจะบอกว่า เราเนี่ยไปรับจ้างขับรถให้ ททท. แล้วก็มีเขียนว่าชื่อดิฉันเป็นคนรับเงิน 4 พันเหรียญนี้ ซึ่งก็คือมันไม่ใช่เรื่องจริง ” ...สุธีรา นาควัชระ ผู้เสียหายจากการแอบอ้างใช้เอกสารจากอดีต จนท. ททท.
มีผู้เสียหายร่วม เดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียน
สุธีรา ทราบด้วยว่า เธอไม่ใช่คนเดียวที่ถูกแอบอ้างนำเอกสารไปเบิกจ่ายเท็จ แต่มีคนไทยในรัฐแมสซาชูเซทส์อีกคน ที่ตกในชะตากรรมเดียวกัน
ผู้เสียหายทั้งสองจึงยื่นเรื่องร้องเรียนกับต้นสังกัดคือ สำนักงาน ททท. ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งส่งหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ดูแลในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐของไทย
“ ในที่สุดก็สามารถที่จะติดต่อกับผู้ว่าการการท่องเที่ยวได้ แล้วก็ท่านผู้ว่าก็โทรศัพท์ กับรองผู้ว่าการฯ ททท. ในตอนนั้นน่ะก็โทรศัพท์มาคุยกับเรานะ บอกว่าจะมีการสอบสวนเรา ก็หลังจากนั้นก็เราก็อยู่ในกระบวนการสอบสวนค่ะ”
แจ้ง ตำรวจ- เอฟบีไอ ทันที หลังคู่กรณีพยายามติดต่อ
ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจสหรัฐฯ และ สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI ของสหรัฐฯ
“แต่ว่าสิ่งที่มันทำให้เราต้องไปต้องไปแจ้งตำรวจ เพราะว่าผู้ที่เอาลายเซ็นกับใบขับขี่เราไปปลอมแปลงเนี่ยพยายามติดต่อเรา คือเขาพยายาม เท็กส์ (ส่งข้อความ) มาหาเรา บอกว่าเขาจะขับรถมาหาเราที่บ้านจากนิวยอร์ก ตอนนั้นพอเรารู้ว่าเขาจะมาหาเราถึงที่บ้านเราเริ่มกลัวแล้ว เพราะตอนนั้นเขาทราบแล้วว่าเรารู้เรื่อง เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่าคนที่เขามีส่วนได้เสียเรื่องนี้ อาจจะแบบ....ไม่ทราบว่า (คิด) ยังไงนะ แต่ทำให้เรากลัวเ เราก็เลยแจ้งตำรวจไว้ก่อน ตำรวจมาที่บ้านนะคะ แล้วก็บอกว่าถ้าเกิดว่ามีใครขับรถมาจากนิวยอร์กเนี่ยให้โทรหาเขาเลย เขาจะมา” สุธีรา กล่าว
ผู้ว่าฯ ททท. ระบุ ‘ไล่ออก’ แล้ว แต่ขอให้ตรวจการทุจริตรายอื่นๆด้วย
ผู้สื่อข่าว 'วีโอเอ ไทย' พยายามติดต่อไปยังสำนักงาน ททท.ที่กรุงเทพฯ และโทรศัพท์พูดคุยกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. โดยได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า “กรณีดังกล่าวทาง ททท. ได้ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้ว และมีคำสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง”
เราอยากจะขอให้ทาง ททท. ช่วยตรวจสอบภายในด้วยว่ามันมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อนหรือเปล่า ..กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า ช่วยดูด้วยว่ามันมีอะไรในระบบที่มันเอื้อกับการให้มีการทุจริตแบบนี้ ...สุธีรา นาควัชระ ผู้เสียหายจากการแอบอ้างใช้เอกสารจากอด่ีต จนท. ทททใ
เช่นเดียวกับ นางสาวสุธีรา ที่บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอได้รับการแจ้งถึงการดำเนินการของ ทาง ททท. กับเจ้าหน้าที่ทั้งสองแล้ว แต่ เธอยังคาดหวังที่อยากเห็นการสอบสวนและตรวจสอบการทุจริตในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีอื่นๆ
“คิดว่าพอใจในระดับหนึ่งนะคะว่า ท่านผู้ว่าการ ททท. สอบสวนจริงนะคะ แล้วก็ติดตามผลให้จริง ก็ต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าการ ททท. มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ก็คือพอใจ ...แต่ว่าสิ่งที่เราออกมาพูดกับสื่อ มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับว่ากรณีของเรากรณีเดียว
...มีกรณีของเรา มีกรณีของน้องอีกคนนึงที่บอสตัน และ เราอยากจะขอให้ทาง ททท. ช่วยตรวจสอบภายในด้วยว่ามันมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อนหรือเปล่า ..กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า หรือว่ากับคนไทยที่เคยทำงานให้ ททท.ในอเมริกา เขาเคยเจออย่างเราหรือเปล่า ก็อยากจะขอทางให้ทาง ททท. ช่วยดูด้วยว่ามันมีอะไรในระบบที่มันเอื้อกับการให้มีการทุจริตแบบนี้ …
…อันนี้เราไม่ทราบนะคะ คืออยากจะถามเขาว่านโยบายของ ททท. มันเป็นยังไง ถ้าเกิดว่าพนักงานทำผิดกฎหมาย กฎหมายในอเมริกา แล้วนี่คือผิดกฎหมายไทยด้วยนะ คือทุจริตจะเอาเงินของรัฐบาลไทยมาใช้ส่วนตัวใช่ไหมคะ ก็อยากจะถามว่าทางกฎหมายเนี่ย ททท. มีนโยบายอย่างไร หรือว่าเป็นเรื่องของ ปปช.”
เผยแยกเหตุผลส่วนตัว-ส่วนรวม ต้านทุจริต
นางสาวสุธีรา ซึ่ง ในอีกด้านเธอมีอาชีพหลัก เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยด้านแรงงานเเละการค้ามนุษย์ ของบริษัทที่ปรึกษาการจัดการ นโยบาย วิจัย และยุทธศาสตร์ ให้กับหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หลายแห่ง เธอยืนยันว่า อยากเธอให้กรณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับและให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตในสังคมไทยให้มากขึ้น
“คนชอบถามเราว่าทำไมเราจะต้องออกมาบอกคนอื่นด้วย มันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว เราเองก็ไม่ได้เสียเงิน คนที่เสียเงินของรัฐบาลไทยใช่ไหมคะ ถ้างั้นมีเหตุผลหลัก 2 เหตุผลที่เราอยากจะให้คนอื่นทราบ คือ 1) ถ้าเกิดว่าคนหนึ่งทำผิดกฎหมายแบบว่ามีการบอกว่าทุจริตผิดกฎหมาย คือ Identity Fraud เอาของ เอาเอกสารคนอื่น มาปลอมแปลงแล้ว เราก็อยากจะเห็นว่าคนนี้ได้รับได้รับผลทางวินัยหรือทางกฎหมายยังไง อันนี้มันเป็นเรื่องส่วนตัวใช่ไหมคะ คือเอาของเรามาทำใช่ไหม..
.. อย่างที่สอง ที่สำคัญซึ่งสำคัญ อาจจะสำคัญกว่าเหตุผลส่วนตัวด้วยซ้ำ คือเราอยากจะให้ประชาชนไทยมีความตื่นตัวมากขึ้นเรื่องทุจริตนะคะ เพราะว่าถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย วงเงินนิดเดียวแต่มันเป็น คล้ายกับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทุจริตในระบบ ถ้าเกิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ ได้เนี่ย เราอยากจะให้มันมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในระบบที่มันใหญ่ขึ้น แล้วก็ถ้าเกิดว่าประชาชนยิ่งตื่นตัวมากขึ้นนะคะคิดว่าการทุจริตก็คงจะลดลง “
คนชอบถามเราว่า ทำไมเราจะต้องออกมาบอกคนอื่นด้วย มันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว เราเองก็ไม่ได้เสียเงิน คนที่เสียเงินของรัฐบาลไทย แต่เรามีเหตุผลที่อยากจะเห็นการทุจริตลดน้อยลง..."สุธีรา นาควัชระ ผู้เสียหายจากการแอบอ้างใช้เอกสาร
เธอยังยืนยันด้วยว่า หากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วแล้วอย่างสหรัฐฯ ถือว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง และในทางกฎหมายหลายๆ ประเทศ การแอบอ้าง หรือ ขโมยอัตลักษณ์ของบุคคลถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง เพราะอาจนำไปสู่การก่อความเสียหายต่างๆ ที่ไม่สามารถประเมินได้
รายงานข่าวแจ้งความคืบหน้าถึง การร้องเรียนไปยัง สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสํานักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจเป็นเวลาราวหนึ่งปีแล้ว และยังอยู่ระหว่างชั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง และรอผลการตรวจสอบภายในจากทาง ททท. อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากพบว่ามีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายและเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อชี้มูลความผิด หากเป็นความผิดทางอาญาก็จะส่งอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อไป