ในการประชุมที่นครนิวยอร์คเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ International Rice Research Institute (IRRI) กับ Asia Society ร่วมกันเสนอรายงานเรื่องความมั่นคงด้านธัญญาหารในเอเชีย
งานวิจัยค้นคว้าด้านเกษตรกรรม ทำให้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับผู้อดอยากหิวโหย ทั่วโลก Achim Dobermann รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายงานวิจัยของศูนย์ดังกล่าวกล่าวว่า ข้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกทั่วโลกทุกวันนี้ เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ผสมขึ้นมาในเวลาราว 40 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนประชากรในเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องพยายามเพิ่มการผลิตข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักในเอเชียให้เพียงพอเป็นเงาตามตัว คือ จะต้องผลิตข้าวให้ได้ปีละ 8 ล้านถึง 10 ล้านตัน
การเพิ่มการผลิต จำเป็นจะต้องมีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่ด้วยผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียพื้นที่ปลูกข้าวให้แก่การขยายตัวของเขตเมืองและการเพาะปลูกเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ มีพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเล็กลงเรื่อยๆ และยังมีปัญหาแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และราคาพลังงานเชื้อเพลิงก็สูงขึ้น ในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังปรับแปลงพันธุ์ข้าวในมีคุณภาพดีขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งในด้านสารอาหาร และความทนทานต่อแมลงโรคพืชและภัยคุกคามต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วมและความแห้งแล้ง
เป้าหมายหนึ่ง ก็คือ ผลิตข้าวชนิดที่มีวิตามิน A เพื่อให้เด็กๆ วัยก่อนเข้าเรียนไม่ขาดวิตามินเอ ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพตา การขาดวิตามินเออาจทำให้เด็กเป็นโรคตาที่ทำให้ตาบอดในวัยเด็ก
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามปรับแปลงพันธุ์ข้าวให้มีกระบวนการสังเคราะห์แสงแบบเดียวกับข้าวโพดและข้าวฟ่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมวลสารของเมล็ดข้าวได้ถึง 50 % ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศมีข้าวมากกว่า 100,000 ชนิดสำหรับเลือกคัดหาคุณสมบัติพิเศษมาผสมปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ข้าวพันธุ์ที่มีคุณสมบัติตามความต้องการ
Achim Dobermann รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายงานวิจัย IRRI กล่าวว่า เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ปัญหาการขาดแคลนนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ เขากล่าวว่า เป้าหมายที่จะผลิตข้าวให้ได้ปีละ 8 ล้านถึง 10 ล้านตัน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้