ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ ส่งผู้อพยพไปคุกอ่าวกวนตานาโม


แฟ้ม: นาวิกโยธินสหรัฐฯ มุ่งหน้าไปยังฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม ซึ่งเตรียมรับผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก กำลังเดินไปยังเครื่องบิน C-130 เฮอร์คิวลิส ในเมืองแจ็กสันวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา 1 ก.พ. 2025 (U.S. Marine Corps/Cpl. Noela Vazquez/Handout via REUTERS)
แฟ้ม: นาวิกโยธินสหรัฐฯ มุ่งหน้าไปยังฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม ซึ่งเตรียมรับผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก กำลังเดินไปยังเครื่องบิน C-130 เฮอร์คิวลิส ในเมืองแจ็กสันวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา 1 ก.พ. 2025 (U.S. Marine Corps/Cpl. Noela Vazquez/Handout via REUTERS)

เครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ส่งผู้อพยพล็อตแรกที่ถูกขับออกจากประเทศไปยังอ่าวกวนตานาโม เมื่อวันอังคาร ตามการเปิดเผยของทางการสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หมายตาเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโมเป็นศูนย์ควบคุมตัวผู้อพยพ และเป็นสถานที่รองรับผู้คนได้สูงสุด 30,000 คน

พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปยังคุกอ่าวกวนตานาโม เรียกสถานที่นี้ว่าเป็น “พิกัดที่เหมาะสม” สำหรับผู้อพยพ และมีทหารสหรัฐฯ เดินทางไปเตรียมการในเรื่องนี้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

ด้านเอมี ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการโครงการสิทธิผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จาก Amnesty International USA ออกประณามการใช้คุกกวนตานาโมเป็นที่พักพิงของผู้อพยพ โดยกล่าวว่า “เป็นการดำเนินการที่โหดร้าย ค่าใช้จ่ายสูง จะเป็นการตัดขาดพวกเขาจากทนาย ครอบครัว และระบบที่ให้การสนับสนุน โยนพวกเขาเข้าไปในหลุมดำเพื่อที่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่มีใครรับรู้”

สหรัฐฯ ส่งผู้อพยพไปคุกอ่าวกวนตานาโม
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:16 0:00

เมื่อวันจันทร์มาจนถึงวันอังคาร สหรัฐฯ ส่งตัวชาวอินเดียกลับประเทศ โดยข้อมูลจาก Pew Research Center พบว่ามีชาวอินเดียมากกว่า 725,000 คนที่พำนักในสหรัฐฯ โดยปราศจากเอกสารเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากเม็กซิโก และเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังส่งผู้อพยพจากเอกวาดอร์ กวม ฮอนดูรัส และเปรูกลับภูมิลำเนาไปแล้วเช่นกัน ส่วนกรณีของโคลอมเบีย ได้นำเครื่องบินมารับผู้อพยพกลับบ้านแล้วจำนวนหนึ่ง

เรือนจำที่อ่าวกวนตานาโม หรือ “กิตโม” ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยสัปดาห์ที่แล้วว่าจะใช้คุกแห่งนี้รองรับคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหลายหมื่นคนจากสหรัฐฯ

คุกอ่าวกวนตานาโม ใช้ขังใคร?

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ตั้งศาลทหารและเรือนจำที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ณ อ่าวกวนตานาโม ประเทศคิวบา หลังเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 หรือ 9/11 ที่นำไปสู่สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย

ในช่วงหนึ่ง มีนักโทษที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโมเกือบ 800 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และขณะนี้ยังมีนักโทษถูกคุมขัง 15 คน รวมทั้ง คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด ผู้ต้องหาวางแผนโจมตี 9/11

บางส่วนของคุกแห่งนี้ยังถูกใช้กักขังคนเข้าเมืองผิดกม.มานานหลายสิบปีแล้วภายใต้ชื่อ “ศูนย์กักกันผู้อพยพ” ซึ่งแยกต่างหากจากเรือนจำหลัก ส่วนใหญ่เป็นชาวเฮติและคิวบาผู้ลักลอบเข้าสหรัฐฯ ทางเรือ

ใครจะถูกนำมาคุมขังที่นี่?

คนที่จะถูกคุมขังที่นี่ คือ ผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รัฐบาลทรัมป์เรียกว่า “คนต่างด้าวต้องคดีร้ายแรงที่สุด” พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเรือนจำนี้ให้พร้อมสำหรับคนต่างด้าวหลายหมื่นคน

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนบอกว่าจะใช้คุกแห่งนี้คุมขัง “ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง” และ “ผู้ที่ยากจะเนรเทศ” เนื่องจากมีหลายประเทศที่ไม่ยอมรับผู้อพยพบางส่วนกลับไป ซึ่งคาดว่ามีจำนวนราว 30,000 คน

คิวบามีท่าทีอย่างไร?

สหรัฐฯ เช่าอ่าวกวนตานาโมจากคิวบามานานกว่า 100 ปี ซึ่งคิวบาต้องการยกเลิกข้อตกลงนี้

ปธน.คิวบา มิเกล ดิอาซ-คาเนล กล่าวถึงแผนส่งคนต่างด้าวจากสหรัฐฯ มาคุมขังที่นี่ว่าเป็น “การกระทำที่ป่าเถื่อน” และว่าเรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่อย่างผิดกฎหมายในดินแดนของคิวบา

รัฐมนตรีต่างประเทศคิวบา บรูโน รอดริเกซ กล่าวว่า การคุมตัวผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโมที่ซึ่งเต็มไปด้วยการทำทารุณและการจองจำอย่างไม่มีกำหนด คือการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG