ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกกลุ่มหนึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2002 มีการ “ทำพิธีบวช” แบบลับ ๆ ให้กับผู้หญิง 7 คนในเยอรมนีโดยบิชอปชาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมาชิกหญิงของกลุ่มเคลื่อนไหวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 250 คนโดยมาจากทั่วโลก แม้ว่า กฎของคริสตจักรโรมันคาทอลิกห้ามไม่ให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นนักบวชก็ตาม
“ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์อยู่เป็นนิจนิรันดร์” คือ คำตอบรับของนักบวชในพิธีมิสซาของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่สิ่งแตกต่างไปก็คือ ผู้นำในพิธีนั้นเป็นสุภาพสตรี แทนที่จะเป็นคุณพ่อบาทหลวง
แคทเธอลีน แบลงค์ ริทเธอร์ ผู้ทำพิธีนี้ เข้า “พิธีบวช” เป็นนักบวชคาทอลิกเมื่อ 2 ปีก่อน หญิง กล่าวว่าเธอได้ "ออกบวช" เป็นนักบวชในนิกายโรมันคาทอลิกเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาที่ปกครองโดยคณะสงฆ์ที่เป็นเพศชายเท่านั้น
แบลงค์ ริทเธอร์ บอกว่า “ตำแหน่งที่ทรงเกียรติเหล่านี้กลับสร้างความรู้สึกว่า บางคนเหนือกว่าคนอื่น ๆ” และกล่าวด้วยว่า ผู้หญิงทุกคนที่เธอรู้จักและผ่านการออกบวช ล้วนเคยสัมผัสประสบการณ์รับรู้ถึงเสียงกระซิบของพระผู้เป็นเจ้าทำให้รู้ว่าเป็นงานที่ถูกเรียกมาให้รับใช้ และนี่คือพระวิญญาณบริสุทธิ์”
อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎหมายศาสนจักรนั้น คริสตจักรคาทอลิกได้ทำการตัดกลุ่มสตรีที่ทำหน้าที่เหมือนกับบาทหลวงออกจากศาสนาไปแล้ว และสาธุคุณ อาคิวนัส กิลโบ ผู้นำแผนกพันธกิจของมหาวิทยาลัยคาทอลิก ที่ถูกก่อตั้งโดยนครรัฐวาติกัน อธิบายว่า สิ่งที่ผู้ที่ระบุว่าตนเป็นนักบวชหญิงทำนั้น แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนของพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นพิธีที่สมบูรณ์
ถึงกระนั้น กระแสการเข้าพิธีเพื่อเป็นนักบวชของผู้หญิงก็ยังเดินหน้าเกิดขึ้นทั่วโลก
เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงวอชิงตัน มีผู้หญิงอีกอย่างน้อย 10 คนที่ประกอบพิธีมิสซา และมีผู้หญิงที่กำลังเคลื่อนไหวในด้านนี้ถึงราว 250 คนทั่วโลก โดยข้อมูลของรายงานชี้ว่า ประเทศที่มีนักบวชหญิงมากที่สุด ได้แก่ ประเทศเยอรมนีและไอร์แลนด์ ที่มีนักบวชหญิงประเทศละ 15 คน
โอลกา ลูเซีย อัลวาเรซ วัย 72 ปี จากประเทศโคลอมเบีย คือ หนึ่งในนักบวชหญิงกว่า 250 คนนั้น ที่กล่าวว่า เธอก้าวขึ้นมาเป็นนักบวชนิกายคาทอลิกเพื่อทำพิธีมิสซาในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนนักบวชชาย คล้าย ๆ กับ ซารา รูล นักบวชคาทอลิกหญิง ที่ประกอบพิธีมิสซาทั้งแบบทางออนไลน์ และแบบพบปะเห็นหน้า ในประเทศแอฟริกาใต้
รูล ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า “เราไม่ได้รับค่าจ้างในการเป็นนักบวช ซึ่งหมายความว่า พวกเราในวัยทำงานต่างต้องทำงานจริง ๆ ขณะที่ พวกเราหลายคนก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งเรื่องของเชื้อชาติ เพศ หรือความทุพพลภาพอยู่แล้ว”
การเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนคำเรียกที่ใช้ในพิธี จากเดิมที่เน้นศูนย์กลางความเป็นชาย อย่างคำว่า คุณพ่อบาทหลวง(father) ถูกปรับมาเป็นคำที่ครอบคลุมมากขึ้น อย่างเช่น “ในนามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้สร้าง ผู้ปลดปล่อย และผู้ประทานลมหายใจให้แก่สรรพชีวิต”
ในการประชุมสมัชชาคาทอลิกระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่นี้ โบสถ์ต่างๆ ทำการเสนอให้กรณีนักบวชหญิงเป็นหัวข้อหลักสำหรับการประชุม แต่พระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขของคริสตจักรคาทอลิก แสดงความไม่เห็นด้วย ดังเช่นที่พระองค์เคยตรัสไว้ในปี 2013 ว่า “คริสตจักรได้เคยพูดและปฏิเสธไปแล้ว อีกทั้งสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ได้เคยมีพระดำรัสในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ทุกอย่างจบลงแล้ว”
สาธุคุณ กิลโบ จากมหาวิทยาลัยคาทอลิก กล่าวย้ำว่า “คริสตจักรทำการบวชให้แก่เพศชายเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงการดำเนินตามสิ่งที่พระคริสต์ได้เคยปฏิบัติไว้”
สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คริสตจักรอ้างอิงจากสาวกนักบวชกลุ่มแรกและเป็นเพศชายทั้งหมดจำนวน 12 คน ในการยืนยันเรื่องนี้ ซึ่ง ในทัศนะของ ไดแอน วิลแมน นักบวชคาทอลิกหญิง จากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการ “การกีดกันทางเพศ”
วิลแมน บอกว่า นี่คือการแบ่งแยก เพราะขณะที่มีคำสอนว่า คนทุกคนควรเท่าเทียมกัน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจริงสำหรับทุกคน ทำไมจึงต้องมีการแบ่งแยกกีดกันที่นำไปสู่ไม่เสมอภาคเช่นนี้
ในส่วนของผู้นักถือศาสนาคริสต์นั้น แมรีแอนน์ วอน เอสเซน คือหนึ่งในผู้ที่มาร่วมพิธีมิสซาที่ประกอบโดยนักบวชหญิงและกล่าวว่า คริสตจักรมีความเห็นที่ผิดเกี่ยวกับประเด็นการครอบครองทาส ในเรื่องหลักคำสอนแห่งการค้นพบ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการล่าอาณานิคมว่าเป็นเรื่องชอบธรรม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า “คริสตจักรเคยทำผิดพลาดมาก่อน และในตอนนี้ก็อาจจะยังทำผิดพลาดอยู่”
ตลอดช่วงเกือบ 2,000 ปีที่ผ่านมา วาติกันเพิ่งอนุญาตให้ผู้หญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกทำหน้าที่เป็นบริกรผู้ช่วยประกอบพิธีในโบสถ์ (altar servers) ในปี 1994 ดังนั้น จึงไม่มีใครคิดว่า ผู้หญิงจะได้รับอนุญาต ให้ประกอบพิธีมิสซาอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้เลย
- ที่มา: วีโอเอ