สื่อหลายแห่งในสหรัฐฯ คาดกันว่า ภายในสัปดาห์นี้ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) จะอนุมัติให้ชาวอเมริกันเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เข็มบูสเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทยาอีกแห่ง ที่ไม่ใช่รายเดียวกับที่พัฒนาโดสแรกที่ได้รับไปก่อนหน้า
รายงานข่าวระบุว่า FDA อาจจะประกาศแผนยุทธศาสตร์ “Mix and Match” หรือการให้ฉีดวัคซีนผสมสูตร ในวันพุธนี้ พร้อมๆ กับการอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ สำหรับผู้รับวัคซีนโควิด-19 แบบ 2 เข็มของโมเดอร์นา (Moderna) และวัคซีน 1 เข็มของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ไปแล้ว
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) เพิ่งอนุมัติการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ของไฟเซอร์ (Pfizer) สำหรับประชาชนบางกลุ่มที่รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว โดยกลุ่มเป้าหมายสำหรับนโยบายดังกล่าว มีอาทิ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในส่วนหน้า เช่น ครู และบุคลากรด้านการแพทย์ รวมทั้ง ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50 และ 64 ปี ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หน่วยงานกำกับดูแลทั้งสองแห่งของสหรัฐฯ จะอนุมัติการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ของ โมเดอร์นา และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หลังผลการศึกษาโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Institute of Heath) ชี้ว่า ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนแบบ 1 เข็มของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้วได้วัคซีนบูสเตอร์ ของ โมเดอร์นา จะมีแอนติบอดี (Antibody) เพิ่มขึ้นถึงกว่า 76 เท่า หรือหากได้รับบูสเตอร์ของไฟเซอร์ ปริมาณแอนติบอดี จะเพิ่มขึ้น 35 เท่า ขณะที่การรับวัคซีนเข็มที่ 2 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เอง กลับเพิ่มระดับแอนติบอดีเพียง 4 เท่าเท่านั้น
ในส่วนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ นั้น มีรายงานข่าวว่า นิค โรโลวิช โค้ชทีมอเมริกันฟุตบอล ทีม Washington State Cougars ถูกไล่ออกจากงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามนโยบายคำสั่งให้พนักงานและลูกจ้างของรัฐทุกคนต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 แม้เจ้าตัวจะยื่นเรื่องขอยกเว้นโดยอ้างเหตุผลด้านศาสนาแล้วก็ตาม
โรโลวิช มีสัญญาว่าจ้างทำหน้าที่โค้ชทีมฟุตบอลดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อแลกกับค่าตอบแทนมูลค่า 3.2 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เพียงปีกว่าๆ เท่านั้น
นอกจากตัวเขาแล้ว ผู้ช่วยโค้ชอีก 4 คนก็ถูกไล่ออกจากงานพร้อมกัน ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้
และที่แอฟริกาใต้ หน่วยงานกำกับดูแลกิจการด้านยาของประเทศเปิดเผยว่า จะไม่มีการอนุมัติการฉีดแบบฉุกเฉินให้กับวัคซีนโควิด-19 สปุตนิค-วี ของรัสเซีย เนื่องจากความกังวลว่า วัคซีนตัวนี้อาจส่งผลให้ความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกลุ่มผู้รับยาที่เป็นเพศชายพุ่งสูงขึ้น เพราะผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า วัคซีนดังกล่าวได้รับการพัฒนามาจากการดัดแปลง ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ซึ่ง CDC ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นไวรัสที่ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น ไข้ การเจ็บคอ โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดอักเสบ ซึ่งล้วนเพิ่มความเสี่ยงสำหรับการติดเชื้อที่ว่า
ศูนย์ กามาเลยา (Gamaleya Center) ของรัสเซีย ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาวัคซีนสปุตนิค-วี ออกแถลงการณ์ตอบโต้การตัดสินใจดังกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลใดๆ ทั้งสิ้น”
ปัจจุบัน แอฟริกาใต้ ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบ 2 เข็มจากไฟเซอร์ และแบบ 1 เข็มจาก จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ให้กับประชาชนของตนอยู่