ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดประวัติ 'ว่าที่ ผอ.เอฟบีไอ' ผู้รับเผือกร้อนกรณีตรวจสอบรัสเซียแทรกแซงการเมืองอเมริกัน


FBI Director nominee Christopher Wray is sworn-on on Capitol Hill in Washington, July 12, 2017, prior to testifying at his confirmation hearing before the Senate Judiciary Committee.
FBI Director nominee Christopher Wray is sworn-on on Capitol Hill in Washington, July 12, 2017, prior to testifying at his confirmation hearing before the Senate Judiciary Committee.

นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ อดีตทนายความบริษัทระดับโลก เจ้าของปริญญากฎหมายจาก ม. เยล เคยทำงานที่กระทรวงยุติธรรม และเป็นลูกน้องเก่านายเจมส์ โคมีย์ ที่ถูกทรัมป์ไล่ออก

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:44 0:00

วันนี้คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ ร่วมกลั่นกรอง นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ (Christopher Wray) ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นผู้อำนวยการหน่วยงานสืบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติรับรองการรับตำแหน่งของเขาในลำดับถัดไป

นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ อดีตทนายความวัย 50 ปี ที่เคยมีลูกความเป็นบริษัทขนาดใหญ่ขึ้นตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการยุติธรรม เรื่องจุดยืนของเขาเกี่ยวกับการสืบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว

หากดูประวัติของนายเวรย์ คงไม่แปลกใจถึงความชำนาญในการตอบคำถามของเขาที่เกี่ยวกับกระบวนการรักษากฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเอฟบีไอ

อดีตทนายผู้นี้ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล และเรียนต่อปริญญาด้านกฎหมาย จนจบในปี ค.ศ. 1992 จากนั้นเขาทำงานเป็นทนายที่นครแอตแลนต้า เมืองบ้านเกิด

ในเวลาต่อมา เขาทำงานเป็นอัยการรัฐบาลกลางที่แอตแลนต้าอีก 8 ปี และเข้าร่วมงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสที่กระทรวงยุติธรรมในกรุงวอชิงตันหลังจากนั้น

เมื่อปี ค.ศ. 2003 อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรม แผนกคดีอาญา ในช่วงดังกล่าวเขาจึงกลายเป็นลูกน้องนายเจมส์ โคมีย์ ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้บริหารอันดับสองของกระทรวงยุติธรรม ก่อนที่นายโคมีย์จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ และโดนไล่ออกโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ในเดือนพฤษภาคม

นายเวรย์ เคยควบคุมงานสืบสวนบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ Enron ที่กิจการพังครืนลงเนื่องจากการบิดเบือนทางบัญชี และปัญหาคอร์รัปชั่นของผู้บริหาร

คนในวงการยุติธรรมกล่าวว่า คริสโตเฟอร์ เวรย์ ยังเชี่ยวชาญเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้วย และมีส่วนในงานสืบสวนหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน เมื่อ 16 ปีก่อน

ครั้งนั้น อยู่ในยุคของ อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และคริสโตเฟอร์ เวรย์ ต้องทำหน้าที่ให้เหตุผลปกป้องกฎหมาย Patriot Act ที่ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน จากนั้นไม่นานเขากลับมาเป็นทนายที่บริษัท King and Spalding ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาเริ่มงานในตอนต้นที่นครแอตแลนต้า

เขามีส่วนในการช่วยบริษัทขยายกิจการในกว่า 17 ประเทศ รวมถึงรัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

วันนี้ในช่วงการถูกไต่ถามจากคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เขาพูดถึงหน้าที่ที่รออยู่ในฐานะว่าที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ว่าตนจะยึดในความเป็นอิสระขององค์กร และยึดมั่นในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รวมถึงเชื่อมั่นศรัทธาในมาตรฐานสูงสุดของเอฟบีไอ

วุฒิสมาชิก แพทริค เลฮี ของพรรคเดโมแครต ถามนายเวรย์ว่า หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งให้เขาทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม เขาจะทำอย่างไร

ว่าที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอผู้นี้กล่าวว่า ก่อนอื่นตนจะพยายามจูงใจให้ประธานาธิบดีเลิกความคิดดังกล่าว แต่หากไม่สำเร็จ นาย คริสโตเฟอร์ เวรย์ บอกว่าตนก็จะยื่นใบลาออก

(รายงานโดย ห้องข่าววีโอเอ / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG