เป็นเวลาครึ่งศตวรรษมาแล้ว ที่ทาเคโอะ นากาโจ (Takeo Nakajo) จับปลาคัตสึโอะ หรือ skipjack tuna ซึ่งขาดไม่ได้เลยในอาหารญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการทานแบบดิบ แบบแห้ง หรือในน้ำซุปก็ตาม
แต่นากาโจและชาวประมงคนอื่น ๆ ที่เมืองคุเระ ในจังหวัดโคจิที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ได้พบเห็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือการที่ปลาคัตสึโอะตัวอ้วนขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แม้ว่าการที่ปลาคัตสึโอะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงรายได้ที่มากขึ้น แต่คนในท้องถิ่นและผู้เชี่ยว ชาญกล่าวว่าเรื่องนี้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงในเรื่องปริมาณปลาคัตสึโอะที่ลดลงเนื่องจากความต้องการปลาชนิดนี้ที่เพิ่มขึ้นและการจับปลาเกินขีดจำกัด
นากาโจในวัย 70 ปีกล่าวว่า “การที่ปลาคัตสึโอะตัวอ้วนขึ้นนั้น ต้องเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของน้ำอย่างแน่นอน” เขายังฉุกคิดด้วยว่าจะต้องทำอย่างไรถ้าหากวันหนึ่งปลาคัตสึโอะไม่มาที่อ่าวนี้แล้ว
โนริอากิ อิโตะ (Noriaki Ito) หัวหน้าเชฟของร้านอาหารสึคาสะ (Tsukasa) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงหนึ่งศตวรรษในเมืองโคจิ กล่าวว่า เขาเองก็ไม่เคยเห็นปลาคัตสึโอะตัวอ้วนขนาดนี้มาก่อนในฤดูกาลนี้ของปี และว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทะเลและสภาพอากาศได้กวาดล้างปลาชนิดอื่น ๆ ไปหมดแล้วรวมถึงหอยจัมบาระ-ไก (chambara-gai) ซึ่งเคยเป็นอาหารเลิศรสของจังหวัดโคจิ
ทั้งนี้ ปลาคัตสึโอะบางส่วนจะอพยพไปทางเหนือด้วยกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรทุก ๆ ฤดูใบไม้ผลิ ทำให้อ่าวซึ่งเป็นรูปโค้งของโคจิเป็นแหล่งตกปลาที่อุดมสมบูรณ์
ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการการประมงในท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของอ่าวในฤดูหนาวเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสในช่วงสี่ทศวรรษไปจนถึงปี 2015 และปลาคัตสึโอะที่อ้วนขึ้นนั้นอาจเกิดจากการที่อาหารของพวกมันอุดมสมบูรณ์ขึ้นในน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น
แต่ ฮิโรยูกิ อูเคดะ (Hiroyuki Ukeda) นักเกษตรศาสตร์และรองอธิการมหาวิทยาลัยโคจิกล่าวว่า ในระยะยาว ภาวะโลกร้อนนี้อาจทำให้น้ำที่อุดมด้วยแร่ธาตุไม่สามารถลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้ ส่งผลให้มีแพลงก์ตอนน้อยลง และปลาที่เป็นอาหารก็ตัวเล็กลง จนทำให้ปลาคัตสึโอะลดน้อยลงไปด้วย
เรื่องดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ชาวญี่ปุ่นสูงวัยต่างเลิกกิจการของตนและส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของการประมงในท้องถิ่นและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำปลาคัตสึโอะตากแห้งและหมัก และการปลูกต้นวาซาบิ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อนที่ใส่ไว้ใต้เนื้อปลาในซูชิ
ทาคาฮิโร ทานากะ (Takahiro Tanaka) เจ้าของร้านขายปลารุ่นที่สี่ที่เรียกตัวเองว่า "คัตสึโอะ ซอมเมลิเย่ร์" กล่าวว่าที่เมืองคุเระซึ่งอยู่ในย่านนากาโทสะ ชาวประมงจำนวนมากได้เลิกกิจการของตนในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และว่าเมืองนี้อาจจะเป็นหนึ่งในชุมชนสุดท้ายของญี่ปุ่นที่ปลาคัตสึโอะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำวัน แต่ถ้าหากไม่มีชาวประมงแล้ววัฒนธรรมนี้ก็คงสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม การทำการประมงเกินขีดจำกัดได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนปลาที่จับได้และส่งผลกระทบต่อชาวประมงในโคจิที่ยึดถือวิธีการตกปลาด้วยการใช้เบ็ดตกปลาคันเดียวแบบดั้งเดิม เทียบกับการตกปลาโดยการใช้อวนขนาดใหญ่ทั่วภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก
ข้อมูลของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่าตัวเลขการจับปลาในโคจิอยู่ที่ 25% ของจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1980 เท่านั้นเอง
นอกจากนี้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาคัตสึโอะที่สำคัญ นั่นคือ การผลิตคัตสึโอะบุชิ หรือ ปลาคัตสึโอะตากแห้งและหมัก ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องปรุงรสโรยหน้าบนอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม หรือใช้ต้มน้ำซุป ก็กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว โดยไทชิ ทาเคอุจิ (Taichi Takeuchi) เจ้าของโรงงานผลิตคัตสึโอะบูชิแห่งหนึ่งในเมืองยูซากล่าวว่า จำนวนผู้ผลิตคัตสึโอะบุชิในโคจิลดลงจากหลายสิบรายเมื่อราว ๆ 40 ปีก่อนเหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปิดโรงงานนี้ต่อไปได้หรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น วาซาบิ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะซาซิมิและซูชิก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการผลิตที่คล้ายคลึงกันนี้ด้วย
มาซาฮิโร โฮชินะ (Masahiro Hoshina) วัย 72 ปี หัวหน้าสมาคมผู้ปลูกวาซาบิในท้องถิ่นกล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นและอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตในโอคุทามะ พื้นที่ภูเขาทางทิศตะวันตกของโตเกียว และว่า เขามีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของการทำฟาร์มของคนในท้องถิ่น
โดยจำนวนเกษตรกรในพื้นที่ลดลง 75% จากช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ การทำซูชิก็อาจจะสูญสิ้นไป
ฮิโรยูกิ อูเคดะ แห่งมหาวิทยาลัยโคจิกล่าวทิ้งท้ายว่า การผสมผสานระหว่างปลาดิบและเครื่องเทศ เช่น ปลาคัตสึโอะและวาซาบินั้น เป็นศิลปะในการทานซูชิ ดังนั้นจึงต้องรักษาไว้ทั้งสองอย่าง และว่าเขาไม่อยากจะคิดถึงอนาคตที่ไม่มีทั้งสองสิ่งนี้อยู่อีกต่อไป
- ที่มา: รอยเตอร์