ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ครอบครัวผู้ต้องหาคดีกัญชาในสิงคโปร์วอนขอความกรุณาก่อนการประหารชีวิต


FILE - The Merlion statue spouts water at a park with the background of a business district in Singapore, Sept, 21, 2019.
FILE - The Merlion statue spouts water at a park with the background of a business district in Singapore, Sept, 21, 2019.

สมาชิกในครอบครัวของชายชาวสิงคโปร์รายหนึ่งที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหามีกัญชาจำนวนกว่า 1 กิโลกรัมอยู่ในครอบครองและจะถูกลงโทษด้วยแขวนคอในสัปดาห์หน้า ออกมาร้องขอความกรุณาจากรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้มีการเปิดคดีพิจารณาใหม่อีกครั้งด้วย

ทันการาจู ซุปเปียห์ วัย 46 ปี ถูกพิพากษาลงโทษด้วยการประหารชีวิตตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเพื่อลักลอบขนยาเสพติด โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาคงคำตัดสินของศาลชั้นต้นให้ลงโทษด้วยการแขวนคอซึ่งมีกำหนดเกิดขึ้นในวันพุธหน้านี้แล้ว

ลีลาวาธี ซุปเปียห์ ผู้เป็นน้องสาวของผู้ต้องหารายนี้ระบุระหว่างการแถลงข่าวในวันอาทิตย์ว่า “เราไม่คิดว่า พี่ชายของดิฉันได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ... ดิฉันมีความเชื่อว่า ท่านประธานาธิบดีจะได้อ่านคำร้องทุกข์ของเรา” และว่า “ตั้งแต่เด็ก เขา(ทันการาจู) เป็นคนที่มีจิตใจดีและทุกคนก็ชอบเขา และเขาก็ไม่เคยทำเรื่องเลวร้ายให้ใคร ... เขาเสียสละทุกอย่างเพื่อช่วยครอบครัวของเขา”

การลงโทษประหารชีวิต ทันการาจู นี้ เป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของสิงคโปร์

ทันการาจู ถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาสมรู้ร่วมคิดทำการลักลอบกัญชาปริมาณ 1,017.9 กรัม เข้าประเทศ โดยปริมาณนี้สูงกว่าเกณฑ์ลงโทษด้วยการประหารชีวิตถึง 2 เท่า ภายใต้กฎหมายเข้มงวดในคดียาเสพติดของสิงคโปร์

ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่อยู่ใกล้ ๆ กัน รัฐบาลได้ประกาศให้มีการใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายไปแล้ว และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ก็กำลังพยายามกดดันให้สิงคโปร์ยกเลิกการลงโทษประหารชีวิตอยู่ด้วย

ครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ ของทันการาจู ร่วมกันลงชื่อในข้อร้องอุทธรณ์ระหว่างการแถลงข่าวในวันอาทิตย์ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวประกาศว่า พวกตนจะนำส่งคำร้องทุกข์นี้ไปยังสำนักงานประธานาธิบดีเอง

ทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์และสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องหารายนี้ต่างกล่าวว่า มีช่องโหว่ในคดีนี้ และว่า ทันการาจูไม่เคยแตะต้องยาเสพติดที่ว่าเลย รวมทั้งอ้างด้วยว่า ผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนโดยไม่มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายร่วม และยังถูกปฏิเสธไม่ให้มีล่ามภาษาทมิฬระหว่างการบันทึกคำให้การครั้งแรกต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

อย่างไรก็ดี สำนักยาเสพติดกลาง (Central Narcotics Bureau) ของสิงคโปร์ระบุว่า ทันการาจู “มีที่ปรึกษาทางกฎหมายร่วมช่วยเหลือตลอดเวลาที่มีการดำเนินคดี” และว่า ผู้พิพากษาพบว่า ประเด็นล่ามนั้นเป็นเรื่อง “ไม่น่าเชื่อถือ” เนื่องจาก ผู้ต้องหาให้การสารภาพและไม่ได้ร้องขอให้มีล่ามในการให้การใด ๆ เลย

รายงานข่าวระบุว่า สิงคโปร์เริ่มกลับมาทำการประหารชีวิตผู้ต้องหาอีกครั้งในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2022 หลังหยุดพักไปกว่า 2 ปี โดยในปีที่แล้ว มีการประหารชีวิตนักโทษไป 11 คนที่ล้วนถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

  • ที่มา: เอเอฟพี
XS
SM
MD
LG