ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จริงอย่างติ๊กตอกเกอร์ลือหรือไม่ว่า สหรัฐฯ คือสาเหตุของแผ่นดินไหวรุนแรงในโมร็อกโก


จนท.ทหารโมร็อกโกช่วยกันส่งผู้รอดชีวิตเหตุแผ่นดินไหวรายหนึ่งมายังโรงพยาบาลสนามในหมู่บ้านแอสนี ในจังหวัดอัล-ฮาอูซ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2023 (AFP)
จนท.ทหารโมร็อกโกช่วยกันส่งผู้รอดชีวิตเหตุแผ่นดินไหวรายหนึ่งมายังโรงพยาบาลสนามในหมู่บ้านแอสนี ในจังหวัดอัล-ฮาอูซ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2023 (AFP)
titan5151

titan5151

ผู้ใช้งานติ๊กตอก

แสงฟ้าแลบที่สว่างจ้าขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหวในโมร็อกโกยังเป็นสิ่งที่ไม่มีใครทราบต้นตอที่มา

เท็จ

ในขณะที่ประชาชนในโมร็อกโกยังคงตกอยู่ในภาวะลำบากหนักจากผลกระทบของแผ่นดินไหวความแรง 6.8 เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 3,000 คนและทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับพันนับหมื่น ทั้งยังสร้างความเสียหายไปทั่วประเทศ เกิดมีกระแสไวรัลใหม่บนโลกโซเชียลที่กล่าวอ้างว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงนี้เป็นฝีมือของมนุษย์ พร้อม ๆ กับมีการแชร์ข้อมูลเท็จเพื่ออธิบายถึงต้นตอของเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

ชายสูงอายุที่เป็นสมาชิกหมู่บ้าน ดูซรู ในจังหวังอัล-ฮาอูซ ของโมร็อกโก ยืนดูสภาพหมู่บ้านของตนที่ถูกแผ่นดินไหวทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2023
ชายสูงอายุที่เป็นสมาชิกหมู่บ้าน ดูซรู ในจังหวังอัล-ฮาอูซ ของโมร็อกโก ยืนดูสภาพหมู่บ้านของตนที่ถูกแผ่นดินไหวทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2023

อินฟลูเอนเซอร์ของติ๊กตอก (TikTok) รายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า titan5151 โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 9 วินาทีซึ่งอ้างว่า มีผู้บันทึกไว้ที่โมร็อกโกก่อนเกิดแผ่นดินไหว โดยคลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพของแสงที่ระเบิดวาบและวัตถุทรงกลมที่ส่องสว่างกลางอากาศ พร้อม ๆ กับแสงระเบิดวาบอีกหลายครั้ง

คลิปวิดีโอที่ว่านี้มาพร้อมกับแฮชแท็กภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับที่หวังช่วยให้ติดกระแสมีผู้เห็นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยแฮชแท็กภาษาอาหรับส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้งานติ๊กตอก titan5151 ใช้นั้นมีตัวเลขผู้เข้าชมแล้วนับสิบล้านครั้ง ขณะที่ แฮชแท็ก 3 ตัวในภาษาอาหรับมีผู้ชมไปถึง 7,000-10,000 ล้านครั้งแล้ว

คำบรรยายกำกับคลิปวิดีโอนี้มีเนื้อความว่า:

“ฟ้าแลบครั้งใหญ่ปรากฏขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหวในโมร็อกโก โดยไม่ทราบที่มา”

ภาพที่ถ่ายจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2023 ที่แสดงคลิปวิดีโอซึ่งผู้ใช้งานติ๊กตอกที่ชื่อ titan5151 โพสต์และกล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า เป็นภาพของฟ้าแลบก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่โมร็อกโกเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2023
ภาพที่ถ่ายจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2023 ที่แสดงคลิปวิดีโอซึ่งผู้ใช้งานติ๊กตอกที่ชื่อ titan5151 โพสต์และกล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า เป็นภาพของฟ้าแลบก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่โมร็อกโกเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2023

แต่คำกล่าวอ้างทุกคนในโพสต์นี้เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะคลิปดังกล่าวไม่ได้มาจากโมร็อกโก และไม่ได้แสดงให้เห็นภาวะฟ้าแลบก่อนเกิดแผ่นดินไหวด้วย ทั้งยังไม่ได้เป็นคลิปที่ถูกบันทึกก่อนเกิดแผ่นดินไหวและยังถูกแก้ไขดัดแปลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กลายมาเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ถึงกระนั้น โพสต์นี้ยังฮิตติดกระแสจนมีคนกดไลค์ (Like) ไปแล้วถึง 220,700 ครั้ง มีผู้เขียนคอมเมนต์แล้วราว 11,800 ข้อความ และมีการแชร์ไปถึงกว่า 27,200 ครั้ง ขณะที่ ผู้สื่อข่าวจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้

ผู้ที่มาให้ความเห็น (คอมเมนต์) จำนวนมากชี้เป้าไปยัง HAARP (High-frequency Active Auroral Research Program) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของสหรัฐฯ และมีโลกอินเทอร์เน็ตมักนำไปโยงกับภัยพิบัติต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ปริศนาทั้งหลายอยู่เสมอมา แต่คลื่นความถี่ที่อุปกรณ์ของโครงการนี้ยิงออกได้นั้นไม่ได้ไปสูงถึงระดับชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นส่วนที่มีผลต่อสภาพอากาศของโลกเลย

ความเห็นล่าสุดบางรายการในโพสต์นี้ยังพูดถึงโครงการดังกล่าวต่อไป เช่น “เป็นโครงการ HAARP แบบหนึ่ง” หรือ “เป็นอุปกรณ์ควบคุมสภาพอากาศ” หรือ “อเมริกาทำการโจมตีประเทศอื่น ๆ แล้ว” เป็นต้น

ภาพถ่ายจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2023 ที่แสดงให้เห็นความเห็นต่าง ๆ ใต้คลิปวิดีโอที่ผู้ใช้งานติ๊กตอก titan5151 โพสต์ โดยมีการการกล่าวอ้างถึงโครงการ HAARP -- High-frequency Active Auroral Research Program ของสหรัฐฯ ด้วย
ภาพถ่ายจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2023 ที่แสดงให้เห็นความเห็นต่าง ๆ ใต้คลิปวิดีโอที่ผู้ใช้งานติ๊กตอก titan5151 โพสต์ โดยมีการการกล่าวอ้างถึงโครงการ HAARP -- High-frequency Active Auroral Research Program ของสหรัฐฯ ด้วย

คลิปวิดีโอ “ฟ้าแลบโมร็อกโก” ของ titan5151 นั้นถูกโพสต์ทางติ๊กตอกครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2020 โดยผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้ที่ใช้ชื่อว่า Jay Hideaway โดยโพสต์ดั้งเดิมนั้นบรรยายว่า เป็นภาพของยูเอฟโอ (UFO – Unidentified Flying Objects) ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปยัง Opensea ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตลาดเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนงานศิลปะประเภท NFT (Non-Fungible Token) และคริปโตเคอร์เรนซี และพบว่า Jay Hideaway ให้คำบรรยายเกี่ยวกับตัวเองว่าเป็น ผู้สร้างสรรค์ สิ่งที่เรียกว่าเป็น Original Apocalyptic Video Art หรืองานศิลป์วิดีโอวันสิ้นโลกฉบับดั้งเดิม

คลิปวิดีโอหลายชิ้นของ Jay Hideaway นำเสนอองค์ประกอบแนวจินตนาการต่าง ๆ เช่น มังกร ซอมบี้และสัตว์ประหลาดที่ดูออกว่าสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์

ต่อมา ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อีกหลายรายในทวิตเตอร์ (Twitter) ที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า เอ็กซ์ (X) และเฟซบุ๊ก (Facebook) รวมทั้งเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ภาษารัสเซียต่าง ๆ นำคลิปวิดีโอของ Jay Hideaway หรือคลิปอื่น ๆ มาโพสต์ต่อ (repost) เพื่อผูกเรื่องแสงบนท้องฟ้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวในโมร็อกโกต่อเนื่องอย่างมากมาย

หลายคนกล่าวโทษอย่างผิด ๆ ว่า แสงที่เห็นในคลิปวิดีโอนั้นมาจากโครงการ HAARP ของสหรัฐฯ ไปแล้ว

มหาวิทยาลัยแห่งอลาสกา แฟร์แบงค์ส (University of Alaska Fairbanks) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ HAARP ต่อจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2015 เรียกโครงการนี้ว่าเป็น “อุปกรณ์ส่งคลื่นวิทยุขนาดใหญ่” ที่ใช้เพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศรอบนอกโลก (ionosphere) ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกที่ติดกับอวกาศ และ “เต็มไปด้วยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าอยู่เต็ม เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับพลังงานจากดวงอาทิตย์”

ทั้งนี้ บรรยากาศรอบนอกโลกนั้นสามารถสะท้อนคลื่นวิทยุกลับลงมาบนพื้นโลกได้ด้วย

โครงการ HAARP นั้นถูกเปิดตัวขึ้นมาเพื่อ “ทำการวิเคราะห์พื้นฐานคุณสมบัติของชั้นบรรยากาศด้านนอก” และเพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีสังเกตการณ์และเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยุ

โครงการนี้เป็นเหมือนสายล่อฟ้าของบรรดานักทฤษฎีสมคบคิดที่เฝ้ากุเรื่องว่า HAARP เป็นโครงการดัดแปลงปรับเปลี่ยนสภาพอากาศที่สามารถนำมาซึ่งการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมของโลกได้

มหาวิทยาลัยแห่งอลาสกากล่าวว่า ระยะของความถี่ที่ HAARP นำส่งออกมาได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในระดับชั้นบรรยากาศที่มีหน้าที่สร้างสภาพอากาศของโลกเลย โดยระบุว่า “เนื่องจากการไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน จึงไม่มีทางที่จะควบคุมสภาพอากาศได้”

แต่นี่ก็ไม่ได้ช่วยหยุดบรรดานักทฤษฎีสมคบคิดให้เดินหน้ากล่าวอ้างเรื่องนี้เลย

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกีและซีเรียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ และเหตุการณ์ไฟป่ารุนแรงบนเกาะเมาวีของรัฐฮาวายในเดือนสิงหาคม เหล่านักทฤษฎีสมคมคิดก็ทำการเผยแพร่คลิปวิดีโอและภาพต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นสายฟ้าฟาดหรือลำแสงไฟ พร้อมระบุอย่างผิด ๆ ว่า เป็นฝีมือของ HAARP หรือหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ อื่น ๆ ที่ทำให้สภาพอากาศกลายมาเป็นอาวุธ

เมื่อปี ค.ศ. 2010 ฮูโก ชาเวซ อดีตผู้นำเวเนซุเอลา อ้างว่า การทดสอบอาวุธโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวพลังทำลายล้างสูงในเฮติ โดยอ้างรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ ViVe TV ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากกองเรือตอนเหนือของรัสเซีย

ต่อมา สื่อรัฐบาลรัสเซียก็นำข่าวมารายงานต่อ จนกลายมาเป็นกระแสคาดเดาไปทั่วเกี่ยวกับโครงการ HAARP

สถานีข่าว Radio Free Europe/Radio Liberty ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ USAGM เช่นเดียวกับ วีโอเอ ระบุในรายงานข่าวที่ออกมาในช่วงนั้นว่า รายงานของสื่อ RT ของรัสเซียไม่ได้พูดว่า ชาเวซนั้นใช้ข้อมูลจากกองเรือตอนเหนือของมอสโกในการกล่าวอ้างเรื่องนี้เลย

ขณะเดียวกัน เจสซี เวนทูรา อดีตผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ HAARP ว่าเป็น “ลำแสงพิฆาตที่ล่องหน” และเป็นเครื่องมือ “ควบคุมจิตใจ” ด้วย

เวนทูรานั้นเป็นพิธีกรรายการของสื่อ RT America จนกระทั่งช่องนี้ถูกปิดตัวลงในดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2022 ขณะที่ ผู้ให้บริการดาวเทียมของสหรัฐฯ ก็ตัดสัญญาณช่องนี้ไป หลังรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธืของปีที่แล้ว

แต่กระนั้น การตรวจสอบพบว่า คลิปวิดีโอว่าด้วยปรากฎการณ์ฟ้าแลบในโมร็อกโกในช่วงเกิดแผ่นดินไหวนั้นไม่ได้ดูเหมือนถูกตัดแต่งต่อเติมใด ๆ มา และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์แปลก ๆ เกี่ยวกับฟ้าแลบเกิดขึ้นในช่วงมีแผ่นดินไหวด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุแผ่นดินไหวที่เม็กซิโกในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2017 มีการเผยแพร่ภาพกลุ่มสีเขียวบนท้องฟ้ายามราตรีออกมาด้วย

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การพบเห็นปรากฏการณ์ที่ว่าในช่วงเกิดแผ่นดินไหวนั้นมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น แสงวาบสีเขียวหรือน้ำเงินที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เสาไฟเคลื่อนตัวหรือพังลงมา เป็นต้น

การปรากฏขึ้นของแสงวาบนั้นที่เกิดขึ้นได้หลายแบบในช่วงที่มีแผ่นดินไหวยังอาจเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า แสงแผ่นดินไหว (earthquake lights) ก็เป็นได้

สาเหตุของการเกิดแสงแผ่นดินไหวนั้นมีหลายอย่าง แต่ก็มักเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างมีแผ่นดินไหว

นักวิทยาศาสตร์บางรายปฏิเสธว่า มีหลักฐานอันแน่นหนาที่ยืนยันว่า ปรากฏการณ์แสงแผ่นดินไหวนั้นมีอยู่จริง โดยแย้งว่า ผู้ที่กล่าวอ้างว่าเคยเห็นสิ่งนี้ จริง ๆ แล้วเห็นปรากฏการณ์อื่น ๆ เช่น แสงวาบหรือแสงเหนือ (aurora) มากกว่า

ทั้งนี้ มีการพูดถึงเรื่องราวของแสงแผ่นดินไหวมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว

ขณะเดียวกัน ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่นที่เกิดขึ้นที่โมร็อกโกก็ยังสร้างกระแสความกลัวเกี่ยวกับวันสิ้นโลกในหมู่ประชาชนทั่วโลกได้อยู่ดี โดยผู้ที่มีความเชื่อบางอย่างก็ออกมาแปลปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ว่าเป็นสัญญาณที่เตือนว่า วันสิ้นสุดของโลกกำลังจะมาถึงแล้ว

ชาวบ้านรายหนึ่งในหมู่บ้านมูเลย์บราฮิม ในเทือกเขาแอตลาสของโมร็อกโก บอกกับสื่อ TRT World ว่า เมื่อตอนเกิดแผ่นดินไหวนั้น “เราคิดว่า นี่คือวันสิ้นโลกแล้ว”

นักวิจัยระบุว่า บัญชีผู้ใช้งานปลอม ๆ บนแพลตฟอร์ม เช่น ติ๊กตอก ยูทูบ (YouTube) และทวิตเตอร์ ทำการเผยแพร่ ดัดแปลงปรับเปลี่ยน หรือทำคลิปวิดีโอหรือเนื้อหาปลอม ๆ อื่น ๆ ขึ้นมาเพื่อโปรโมทความเชื่อในศาสนาอิสลามเกี่ยวกับวันสิ้นโลกว่าใกล้จะมาถึงด้วย

ส่วนสื่อรัฐบาลรัสเซียก็ปั่นทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโครงการ HAARP และการคาดเดาเกี่ยวกับวันสิ้นโลกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG