ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ศึกบอลลูนข้ามพรมแดน 2 เกาหลี – สื่อรัสเซียเข้าข้างโสมแดง จริงหรือไม่


จนท.กองทัพเกาหลีใต้ตรวจสอบวัตถุที่ไม่สามารถระบุได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นขยะจากเกาหลีเหนือที่มาพร้อมกับบอลลูนซึ่งลอยข้ามพรมแดนของสองเกาหลี มาตกบนถนนกรุงโซล ในช่วงค่ำคืนระหว่างวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2567 (South Korean Defence Ministry/AFP)
จนท.กองทัพเกาหลีใต้ตรวจสอบวัตถุที่ไม่สามารถระบุได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นขยะจากเกาหลีเหนือที่มาพร้อมกับบอลลูนซึ่งลอยข้ามพรมแดนของสองเกาหลี มาตกบนถนนกรุงโซล ในช่วงค่ำคืนระหว่างวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน 2567 (South Korean Defence Ministry/AFP)
อิลยา ซึคานอฟ

อิลยา ซึคานอฟ

ผู้สื่อข่าว สปุตนิก โกลบ ประจำกรุงมอสโก

“สิ่งที่สื่อตะวันตกไม่ได้บอกคุณเกี่ยวกับแคมเปญบอลลูนขยะของเกาหลีเหนือ”

ทำให้สังคมเข้าใจผิด
นักเคลื่อนไหวหัวอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ร่วมชุมนุมในวันก่อนวันครบรอบ 5 ปีของเหตุการณ์เรือรบ Cheonan จม ในกรุงโซล เมื่อ 25 มี.ค. 2558 (Ahn Young-joon/AP)
นักเคลื่อนไหวหัวอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ร่วมชุมนุมในวันก่อนวันครบรอบ 5 ปีของเหตุการณ์เรือรบ Cheonan จม ในกรุงโซล เมื่อ 25 มี.ค. 2558 (Ahn Young-joon/AP)

รายงานข่าวเกี่ยวกับการที่เกาหลีเหนือส่งบอลลูนนับร้อยลูกพร้อมเศษขยะไปยังเกาหลีใต้ เมื่อไม่นานมานี้สร้างกระแสความกลัวว่า สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีจะยิ่งเดือดหนักขึ้นไปอีก

ที่ผ่านมา มีรายงานออกมามากมายว่า สาเหตุที่เกาหลีเหนือกล่าวอ้างเพื่ออธิบายว่า ทำไมถึงดำเนินแผนงานบอลลูนขยะ ก็คือ การตอบโต้การที่ประชาชนเกาหลีใต้ส่งบอลลูนพร้อมใบปลิวที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คิม จอง อึน

แต่สื่อของรัฐบาลรัสเซียก็พยายามตีประเด็นข้อสงสัยในเรื่องนี้เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกระทำของกรุงเปียงยางและการรายงานข่าวของสื่อตะวันตก

หนึ่งในตัวอย่างของแผนงานนี้ก็คือ บทความโดย อิลยา ซึคานอฟ ผู้สื่อข่าว สปุตนิก โกลบ (Sputnik Globe ประจำกรุงมอสโก ที่มีหัวข่าวว่า “สิ่งที่สื่อตะวันตกไม่ได้บอกคุณเกี่ยวกับแคมเปญบอลลูนขยะของเกาหลีเหนือ” และมีเนื้อหาว่า

“เพราะ(เกาหลีเหนือ)ถูกกระหน่ำโดยเกาหลีใต้ซึ่งเป็นพันธมิตรของกรุงวอชิงตันว่า ‘ไร้สาระ’ ‘ไม่มีเหตุผล’ ‘เป็นการยั่วยุแบบชั้นต่ำ’ … การประกาศการทำสงครามบอลลูนขยะของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีนั้น อันที่จริงแล้ว เป็นการโต้ตอบแผนงานการใช้บอลลูนปลุกปั่นโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีใต้ที่ดำเนินมานานนับทศวรรษ”

นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด

“สื่อตะวันตก” นั้นทำรายงานข่าวทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับการที่นักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ปล่อยบอลลูนที่ติดคัมภีร์ไบเบิล ยา อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลขนาดเล็ก (thumb drive) ซึ่งมีไฟล์ซีรีส์และเพลงเค-ป็อปอยู่ และใบปลิวที่มีเนื้อหาดูถูกสบประมาทผู้นำเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ สื่อต่าง ๆ เช่น บีบีซี เอพี ว็อกซ์ (Vox) บลูมเบิร์ก นิวยอร์กไทมส์ และสื่อหลักอีกหลายสำนักยังได้ตีพิมพ์รายงานอธิบาย (explainer) ออกมามากมายเกี่ยวกับประเด็นดรามาว่าด้วยบอลลูนระหว่างสองเกาหลีที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษแล้ว

นักวิเคราะห์ที่ได้พูดคุยกับสื่อในเกาหลีใต้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและแรงจูงใจเกี่ยวกับแผนงานต่อต้านกรุงเปียงยางด้วย

ซึคานอฟ ผู้สื่อข่าว สปุตนิก โกลบ ยังได้ตีข่าวคำกล่าวหาของเกาหลีเหนือว่า บอลลูนจากเกาหลีใต้ “อาจมีจุดประสงค์ใช้งานเฉพาะเจาะจงด้านการทหาร” และยังหมั่นย้ำคำกล่าวหาที่ไม่มีมูลของกรุงเปียงยางว่า กรุงโซลอาจใช้บอลลูนเหล่านี้เพื่อแพร่กระจาย “เชื้อไวรัส” อีกด้วย

สปุตนิก ยังกล่าวด้วยว่า “การใช้บอลลูนปลุกปั่นโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีใต้ ... เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว” และว่า “แผนงานสงครามบอลลูนขยะของเกาหลีเหนือนั้นชัดเจนแล้วว่า เป็นสัญญาณว่า กรุงเปียงยางทนไม่ไหวแล้วและไม่พร้อมที่จะทนต่อการยั่วยุอย่างต่อเนื่องของเกาหลีใต้โดยไม่ตอบโต้อีกต่อไป”

คำกล่าวที่ว่านี้ไม่ได้พูดถึงความจริงที่ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้วิธีการนี้เป็นพัก ๆ มาตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี และเกาหลีเหนือก็ส่งบอลลูนที่มาพร้อมก้นบุหรี่และข้อความต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาดูถูกสบประมาทประธานาธิบดีปาร์ค กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ในปี 2016 ด้วย

ในเวลานั้น เกาหลีใต้ตอบโต้ด้วยการกลับมาเปิดลำโพงกระจายเสียงใกล้ ๆ กับชายแดน โดยเล่นเพลงป็อปและเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกาหลีเหนืออีกครั้ง

แต่วิธีการเหล่านี้ก็แตกต่างจากแผนงานที่รัฐบาลเปียงยางให้การสนับสนุนในการส่งบอลลูนพร้อมขยะลงใต้ เพราะรัฐบาลกรุงโซลไม่ได้เป็นผู้ส่งบอลลูนขึ้นเหนือมานานหลายทศวรรษแล้ว มีแต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเกาหลีใต้เท่านั้นที่ทำการเช่นนั้น

ระดับความอดทนของรัฐบาลกรุงโซลต่อสิ่งที่นักเคลื่อนไหวได้ทำไปก็แตกต่างกันไปตามแต่ละวาระ โดยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ แต่ดรามาว่าด้วยบอลลูนระหว่างทั้งสองดูรุนแรงขึ้นหลังเกิดการยกระดับความตึงเครียดครั้งใหญ่ ๆ เช่น การที่เรือ ROK Cheonan ของกองทัพเกาหลีใต้จมลงเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2010 ที่การสืบสวนในระดับนานาชาติชี้ว่า เป็นฝีมือของขีปนาวุธเกาหลีเหนือ

South Korean conservative activists stage a rally on the eve of the 5th anniversary of the sinking of themSouth Korean naval ship "Cheonan" in Seoul on March 25, 2015. (Ahn Young-joon/AP)
South Korean conservative activists stage a rally on the eve of the 5th anniversary of the sinking of themSouth Korean naval ship "Cheonan" in Seoul on March 25, 2015. (Ahn Young-joon/AP)

เมื่อปี 2020 เกาหลีใต้ประกาศให้การใบปลิวที่มีเนื้อหาต่อต้านกรุงเปียงยางเข้าไปในเกาหลีเหนือ เป็นการก่ออาชญากรรมและมีบทลงโทษเป็นการจำคุก แต่ศาลสูงของเกาหลีใต้ตัดสินถอดกฎหมายนี้ออกในเดือนธันวาคม ปี 2023 โดยอ้างเหตุผลเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

ถึงกระนั้น ซึคานอฟ ผู้สื่อข่าว สปุตนิก โกลบ ย้ำคำกล่าวอ้างของกรุงเปียงยางอยู่บ่อย ๆ ว่า “แผนการรุกกลับด้วยบอลลูนขยะของเกาหลีเหนือนั้นคือ ปฏิกิริยา ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน สำหรับ ‘การล่วงล้ำเชิงยั่วยุ’ ของเกาหลีใต้ ต่ออธิปไตยของเกาหลีเหนือ ที่ใช้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่การฝึกซ้อมรบและโดรนสอดแนม ไปจนถึงการปล่อยใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ”

พร้อม ๆ กับการกล่าวหาสื่อตะวันตกว่า รายงานข่าวอย่างผิด ๆ ซึคานอฟ เลือกที่จะไม่พูดถึงการกระทำข่มขู่อย่างเปิดเผยของเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยรายงานข่าวของสปุตนิกไม่ได้กล่าวถึงการที่กรุงเปียงยางทดสอบยิงขีปนาวุธหลายต่อหลายครั้งใกล้ ๆ กับชายแดนเกาหลีใต้ รวมทั้ง ความพยายามปล่อยดาวเทียมลาดตระเวนสอดแนมทางททหารของกรุงเปียงยางซึ่งเป็นการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและการจำลองการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์เข้าใส่เกาหลีใต้ แผนงานป่วนสัญญาณจีพีเอสที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และการที่เปียงยางใช้โดรนแทรกซึมเข้ามาในเกาหลีใต้ ด้วย

รายงานของ สปุตนิก โกลบ ระบุด้วยว่า เมื่อปี 2020 คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือสั่งให้มีการทำลายสำนักงานประสานงานกรุงโซล ที่เมืองแคซอง ซึ่งเกาหลีใต้ออกเงินทุนสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น เพื่อตอบโต้กับเหตุการณ์ที่นักเคลื่อนไหวเกาหลีใต้ส่งภาพลามกข้ามแดนมาฝั่งเหนือ

ในช่วงนั้น ลอรา บิคเกอร์ ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ประจำกรุงโซล กล่าวว่า กรุงเปียงยางน่าจะใช้แผนงานใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อเป็น “ข้ออ้าง” ในการทำลายอาคารที่ว่าลง

บิคเกอร์ กล่าวว่า การที่เปียงยางสร้างภาพของผู้แปรพักตร์จากตนและมีส่วนร่วมในแผนงานส่งบอลลูนจากเกาหลีใต้ให้เป็น “เศษสวะ” ในรายงานของสื่อรัฐทั้งหลาย หลังอาคารที่ว่าถูกถล่มลงมา คือ ความตั้งใจที่จะทำให้ชาวเกาหลีเหนืออ้าง “เหตุ” ที่จะ “ตระเวนทำการต่าง ๆ แม้จะเผชิญการลงโทษจากนานาชาติอย่างหนักท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากความเจริญรุ่งเรืองอยู่”

ความแตกต่างอย่างมากในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนของสองเกาหลียังเป็นสาเหตุที่ทำให้กรุงเปียงยางโกรธแค้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่มีข่าวว่าแผนโฆษณาชวนเชื่อในประเทศที่ใช้มานานเริ่มไม่ได้ผลดังเช่นเคยแล้ว

“ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นั้น เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า แผนงานโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือกำลังใช้งานไม่ได้ ขณะที่ เศรษฐกิจของเกาหลีใต้รุดไปข้างหน้าอยู่” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน

รายงานข่าวนี้ยังระบุด้วยว่า “เกาหลีใต้เริ่มเห็นประชาธิปไตยเบ่งบานและกลายมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญระดับโลก ขณะที่ เกาหลีเหนือประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารที่แก้ไม่ได้และต้องพึ่งพาลัทธิบูชาบุคคลและการปิดกั้นข้อมูลเต็มรูปแบบเพื่อควบคุมประชาชนของตนให้อยู่”

หลังตกอยู่ในสภาวะถดถอยและต้องตามเกาหลีใต้อยู่อย่างมาก เกาหลีเหนือตัดสินใจประกาศยุติความพยายามรวมชาติในที่สุด ตามความเห็นของนักวิเคราะห์จาก United States Institute of Peace ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสภาคองเกรส โดยจุดนี้ทำให้เชื่อกันว่า กรุงเปียงยางเชื่อว่า “การแยกตัวทั้งทางกฎหมายและทางการเมืองอย่างสมบูรณ์จากเกาหลีใต้” คือ “ยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดที่ดีที่สุด” ตามรายงานของหน่วยงานนี้

คิม จอง อึน เรียกวัฒนธรรมเพลงและละคร เค-ป็อป ที่เกาหลีใต้ส่งเข้ามาทางชายแดนว่าเป็น “มะเร็งร้าย” ซึ่งตอกย้ำภัยคุกคามของซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลกรุงโซลต่อ “อาณาจักรที่โดดเดี่ยวจากโลกภายนอก” แห่งนี้

อย่างที่ทราบกันดี เพลงและละครเค-ป็อปได้ก้าวขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมระดับโลกไปแล้ว ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ รวมทั้ง การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนในสายตาประชาคมโลกด้วย

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG