ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: สื่อรัฐจีน-อิหร่านชี้ ชาติตะวันตกไม่สนวิกฤตกาซ่าโดยอ้างประเด็นลอบสังหารทรัมป์ จริงหรือไม่


ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ชูภาพเหมือนของอดีตปธน.สหรัฐฯ ขณะร่วมกิจกรรมหาเสียงที่หาดฮันติงตัน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 (Etienne Laurent/Reuters)
ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ชูภาพเหมือนของอดีตปธน.สหรัฐฯ ขณะร่วมกิจกรรมหาเสียงที่หาดฮันติงตัน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 (Etienne Laurent/Reuters)
เฉิน เว่ยหัว

เฉิน เว่ยหัว

คอลัมนิสต์และหัวหน้าฝ่ายข่าวอียูของสื่อไชน่าเดลี

“ช็อกจริง ๆ ผู้นำอียูตอบโต้ประเด็นความพยายามลอบสังหารทรัมป์ได้รวดเร็วและหนักแน่นกว่าเมื่อตอบโตกรณีการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่า”

่ทำให้สังคมเข้าใจผิด

สื่อของรัฐบาลในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการต่างฉวยโอกาสใช้ข่าวการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาใช้ตอกย้ำประเด็นการแบ่งขั้วที่หนักหน่วงขึ้นทุกวันในสหรัฐฯ พร้อม ๆ กับเบนความสนใจไปที่เรื่องนโยบายต่างประเทศของชาติตะวันตกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

เรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเรื่องหนึ่งที่สื่อรัฐบาลและผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อิหร่านนำเสนอออกมาก็คือ ประเด็นที่ว่า สื่อและเจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกพุ่งความสนใจอย่างมากไปที่ข่าวการทำร้ายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม โดยละเลยเรื่องความเดือดร้อนของชาวปาเลสไตน์ในกาซ่า

ยกตัวอย่างเช่น สื่อ Press TV ของรัฐบาลอิหร่านตีพิมพ์บทความพร้อมหัวข้อข่าว “การบาดเจ็บที่หูของทรัมป์กลายเป็นข่าวใหญ่กว่าการสังหารชาวปาเลสไตน์ 90 คนในกาซ่า” โดยสิ่งที่ Press TV พูดถึงการโจมตีทางอากาศโดยอิสราเอลเข้าใส่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-มาวาซิ ทางใต้ของกาซ่าที่กระทรวงสาธารณสุขกาซ่าซึ่งบริหารงานโดยกลุ่มฮามาสระบุว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 คน

อิสราเอลกล่าวว่า สมาชิกอาวุโสของกลุ่มติดอาวุธฮามาส 2 คนที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีเข้าใส่ทางใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมและทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คน พร้อมนำมาสู่สงครามกาซ่านั้น กำลังซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มพลเรือนในค่ายดังกล่าว

กองทัพอิสราเอลกล่าวด้วยว่า ได้สังหารผู้บัญชาการคนหนึ่งของฮามาสในการโจมตีทางอากาศในวันนั้น

ผู้คนเร่งนำตัวผู้เสียชีวิตจากจุดที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศเข้าใส่ในค่ายผู้ลี้ภัยอัล-มาวาซิ ในเมืองคานยูนิส ทางใต้ของฉนวนกาซ่า เมื่อ 13 ก.ค. 2567 (Hatem Khaled/Reuters)
ผู้คนเร่งนำตัวผู้เสียชีวิตจากจุดที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศเข้าใส่ในค่ายผู้ลี้ภัยอัล-มาวาซิ ในเมืองคานยูนิส ทางใต้ของฉนวนกาซ่า เมื่อ 13 ก.ค. 2567 (Hatem Khaled/Reuters)

บทความของ Press TV ยังพูดถึงโพสต์ของ เฉิน เว่ยหัว คอลัมนิสต์และหัวหน้าฝ่ายข่าวอียูของสื่อไชน่าเดลีของรัฐบาลจีน ทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมซึ่งเป็นการเขียนตอบโพสต์ของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ที่มีเนื้อความขอให้ทรัมป์หายเจ็บโดยเร็วและประณามเหตุความรุนแรงทางการเมืองในสหรัฐฯ ด้วย

เฉิน เขียนว่า: “ช็อกจริง ๆ ผู้นำอียูตอบโต้ประเด็นความพยายามลอบสังหารทรัมป์ได้รวดเร็วและหนักแน่นกว่าเมื่อตอบโตกรณีการสังหารหมู่ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่า”

นั่นทำให้สังคมเข้าใจผิด

ขณะที่ ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ไม่ได้ทวีตข้อความใด ๆ เกี่ยวกับกาซ่าออกมาในวันนั้น โจเซพ บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป เป็นผู้ที่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดใส่ค่ายอัล-มาวาซิ ในวันที่ 13 กรกฎาคม

บอร์เรลล์เขียนด้วยว่า:

“อีกครั้งแล้วที่การโจมตีโดยกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ซึ่งมุ่งตรงไปยังเป้าหมายกลุ่มฮามาสเหมือนจะทำให้เกิดการสังหารหมู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยมาวาซิที่อิสราเอลประกาศให้เป็นเขตปลอดภัย มีรายงานข่าวว่า พลเรือนหลายคนเสียชีวิต สงครามก็มีขีดจำกัดดังที่ประกาศไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ การทำให้จบไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้ เราขอประณามการละเมิดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ... และอีกครั้ง เราร้องขอให้มีการเปิดทางให้กับการสืบสวนอย่างอิสระและการรับผิดชอบ (independent investigations and accountability – SIC) และให้มีการยุติสถานการณ์อันน่ากลัวต่อพลเรือนผู้บริสุทธ์ในปาเลสไตน์(ด้วย)”

และ 2 ชั่วโมงต่อมา บอร์เรลล์ก็โพสต์ข้อความประณามความพยายามลอบสังหารทรัมป์และเหตุการณ์ก่อความรุนแรงทางการเมือง

บอร์เรลล์ยังประณามการที่ “ต้นทุนมนุษย์พุ่งสูงและความเสียหายในวงกว้างที่เกิดขึ้นในกาซ่าจากความขัดแย้งนี้” ในวันที่ 15 กรกฎาคม พร้อมระบุว่า การทิ้งระเบิดเข้าใส่ค่ายผู้ลี้ภัยมาวาซินั้น “ไม่สามารถทนรับได้” และ “ยอมรับไม่ได้”

ขณะเดียวกัน ผู้นำโลกหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็ออกมาแสดงความเสียใจต่อทรัมป์ด้วย

ขณะที่ เฉินหยิบยกเพียงกรณีของ ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ที่ไม่พูดถึงกาซ่า ผู้นำจีนเองก็ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการโจมตีเข้าใส่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-มาวาซิ และกระทรวงการต่างประเทศจีนรวมทั้งสื่อหลักของรัฐบาลจีนก็ไม่ได้พูดถึงแถลงการณ์เรื่องนี้จากปธน.สีเลยด้วย

เสียงวิพากษ์จารณ์ว่า กรณีความพยายามลอบสังหารทรัมป์ดึงความสนใจสื่อได้มากกว่าสถานการณ์ในกาซ่าหรือที่อื่น ๆ ในโลกก็ทำให้นึกถึงประเด็นโต้เถียงเก่าแก่ที่มีการหยิบยกขึ้นมาถกกันในวงกว้างบ่อย ๆ ว่า ทำไม สื่อถึงรายงานเหตุการณ์บางเหตุการณ์มากกว่าเรื่องอื่น ๆ

ในความเป็นจริง การพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีหรือแคนดิเดตประธานาธิบดีในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นโดนใจประชาชนหลายล้านทั่วโลก รวมถึงในจีนด้วย นั่นเอง

วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง รายงานว่า “ทรัมป์ถูกยิง” คือข่าวที่ติดเทรนด์ระดับต้น ๆ ของสื่อสังคมออนไลน์ “เว่ยโป๋” ซึ่งคล้ายกับแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ในวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ข่าวอัพเดทกรณีการยิงทรัมป์ยังได้รับความสนใจอย่างมากบนแพลตฟอร์มนี้ของจีน

เหอ ยเว่ สมาชิกสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (National Union of Journalists) ในสหราชอาณาจักร บอกกับ วีโอเอ ว่า ชาวเน็ตในจีนฉวยโอกาสเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในต่างประเทศ เช่น กรณีการลอบยิงทรัมป์ เพราะพวกเขา “ไม่สามารถถกประเด็นการเมืองจีนได้” เนื่องจากมาตรการจำกัดรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกในจีน

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG