เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียในบังคลาเทศทวีตภาพกราฟิกที่ตั้งใจสื่อว่า มี 9 ประเทศในยุโรปที่สั่งเพิ่มการนำเข้าน้ำมันของรัสเซีย แม้รัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการดำเนินมาตรการลงโทษต่อมอสโกอยู่ก็ตาม โดยสถานทูตฯ ระบุว่า ที่มาของข้อมูลนี้คือ สปุตนิก อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลรัสเซีย
สปุตนิก เขียนหัวข้อข่าวในภาพกราฟิกนี้ว่า “ประเทศใดที่เลี่ยงมาตรการลงโทษของตนเอง และเดินหน้าค้าขายกับรัสเซีย?”
ปัญหาก็คือ สถิติอันไร้ซึ่งแหล่งที่มาที่สปุตนิกนำมาอ้างนั้นไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานหลายชิ้นจากสื่อที่เชื่อถือได้ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังอียูนั้นหดตัวหนักอยู่ ยิ่งกว่านั้น คำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซียก็เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปในอีก 2 เดือนที่จะยิ่งทำให้ตัวเลขค้าขายที่ว่านี้หดหายอย่างหนัก
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ว่านี้ ฝ่าย Polygraph พิจารณาข้อมูลในภาพกราฟิกของสปุตนิกและทวีตของสถานทูตรัสเซียแล้วสรุปว่า เป็นข้อมูลเท็จ
ในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารที่มีเนื้อหาสั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานอื่น ๆ จากรัสเซีย ทั้งนี้ มาตรการลงโทษจากชาติตะวันตกต่าง ๆ ต่ออุตสาหกรรมพลังงานรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างที่นานาประเทศดำเนินการต่อรัสเซียเพื่อสกัดกั้นกองทัพและเพื่อบีบให้มอสโกยุติการทำสงครามในยูเครน
ข้อมูลในภาพกราฟิกของสปุตนิก การนำเข้าน้ำมันรัสเซียโดยสโลวีเนียเพิ่มขึ้น “สองเท่า” ขณะที่ ตัวเลขของสเปนพุ่งขึ้น 69% ของสวีเดนเพิ่มขึ้น 48% ของเบลเยียมเพิ่มมา 25% และของโปแลนด์ปรับขึ้น 19% แต่กราฟิกนี้ไม่ได้ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกจัดเก็บมาในช่วงใด
เมื่อนำข้อมูลของสปุตนิกมาเปรียบเทียบกับรายงานของยูโรสแตท (Eruostat) ซึ่งเป็นสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปและเก็บรวบรวมข้อมูลการนำเข้าน้ำมันรัสเซียของทุกประเทศมาตลอดจนถึงช่วงต้นเดือนกันยายนปีนี้ (ตัวเลขของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป แล้วแต่การรายงานของรัฐบาลนั้น ๆ) จะพบว่า การนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียโดยสวีเดนลดลงจนเหลือศูนย์ในเดือนสิงหาคม จากจำนวน 197,000 ตันในเดือนมกราคม
ในส่วนของเบลเยียมนั้น มีการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 592,000 ตันในเดือนสิงหาคม มาเป็น 598,000 ตันในเดือนกันยายน แต่ตัวเลขของสองเดือนนี้แสดงให้เห็นถึงการหดตัวอย่างหนักจากระดับ 874,000 ตันที่เบลเยียมนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับโปแลนด์นั้น ตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียลดลงมาอยู่ที่ 881,000 ตันในเดือนสิงหาคม จากระดับ 1,356,000 ตันในเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ดี ยูโรสแตทไม่มีตัวเลขของสโลวีเนียและสเปนมานำเสนอ
และถ้ามาดูตัวเลขนำเข้าของ 4 ประเทศหลัก ๆ ในยุโรป สปุตนิกระบุมูลค่าการนำเข้าน้ำมันรัสเซียไว้ที่ 3,600 ล้านดอลลาร์สำหรับเยอรมนี และ 2,700 ล้านดอลลาร์สำหรับอิตาลี 1,750 ล้านดอลลาร์สำหรับเนเธอร์แลนด์ 1,230 ล้านสำหรับฝรั่งเศส
ข้อมูลของยูโรสแตทช่วยอธิบายว่า ทำไมสปุตนิกถึงตัดสินใจใช้ข้อมูลด้านการเงินของประเทศผู้นำเข้าทั้ง 4 ประเทศมาเสนอ ซึ่งก็เป็นเพราะตัวเงินนั้นแสดงให้เห็นถึงการปรับขึ้น ขณะที่ปริมาณนั้นหดตัวรุนแรง
ยูโรสแตทรายงานว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่เยอรมนีนำเข้านั้นลดลงจาก 2,821,000 ตันในเดือนมกราคมมาอยู่ที่ 1,674,000 ตันในเดือนสิงหาคม ส่วนของอิตาลีลดลงจากเกือบ 1.4 ล้านตันมาอยู่ที่ 1,180,000 ตันในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีการนำเข้าสูงสุดของปีนี้
สำหรับเนเธอร์แลนด์นั้น ปริมาณการนำเข้าจากรัสเซียหดลงเหลือ 973,000 ตันในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับ 2,094,0000 ตันในเดือนมกราคม ขณะที่ ตัวเลขของฝรั่งเศสแทบจากอันตรธานหายไป จากปริมาณนำเข้า 601,000 ตันในเดือนมกราคมที่ร่วงเหลือเพียง 66,000 ตันในเดือนสิงหาคม
นอกจากนั้น ในรายงานประจำเดือนตุลาคมโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ขององค์การสหประชาชาติ การส่งออกน้ำมันและรายได้จากการส่งออกของรัสเซียลดหนักเมื่อเทียบกับระดับที่บันทึกได้ก่อนที่มอสโกจะส่งกองทัพรุกรานยูเครน โดยรายได้หดหายไป 17.3% แม้ว่ารัสเซียจะหันไปส่งออกน้ำมันที่มีส่วนลดราคาให้กับจีนและอินเดียเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปแล้วก็ตาม
รายงานของ IEA ยังระบุด้วยว่า “รัสเซียน่าจะประสบภาวะกำลังการผลิตหดหายเพิ่มเติมในเดือนธันวาคม เมื่อคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันดิบและคำสั่งห้ามการเดินเรือโดยอียูมีผลบังคับใช้ โดยเจ้าหน้าที่รัสเซียได้ออกมาขู่ว่าจะลดการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยกับผลกระทบด้านลบจากมาตรการเพดานราคาแล้วด้วย”
ในปี ค.ศ. 2020 น้ำมันจากรัสเซียคิดเป็น 29% ของน้ำมันดิบที่อียูนำเข้ามาทั้งหมด โดยกว่าครึ่งหนึ่งที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากรัสเซียนั้นอยู่ในรูปของเชื้อเพลิงแข็ง
เมื่อเดือนตุลาคม กลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 7 ประเทศ หรือ กลุ่มจี-7 ประกาศที่จะดำเนินแผนกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียไว้ที่ระหว่าง 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียหดหายจากระดับ 113,000 ล้านดอลลาร์ที่บันทึกได้ในปี ค.ศ. 2021
และหลังจากมีการหารือประเด็นนี้ต่อมาอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลประเทศสมาชิกอียูก็ตกลงที่จะตั้งเพดานราคาขายน้ำมันรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมนี้ โดยหลายฝ่ายยังคงจับตาดูอยู่ว่า มาตรการนี้จะส่งผลอย่างไรต่อฝ่ายใดบ้างอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม เคพเลอร์ (Kpler) บริษัทชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญด้านการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ระบุในรายงานของตนเมื่อเดือนกันยายนว่า รัสเซียได้ปรับเปลี่ยนการส่งออกน้ำมันทางทะเลของตนไปใช้เส้นทางที่มุ่งไปยังเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการหันหัวเรือจากยุโรปไปยังจีนและอินเดียมากขึ้น นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามในยูเครนแล้ว
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ