เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา จุน หวู จี่ บล็อกเกอร์ด้านกิจการทหารชื่อดังของจีน โพสต์คลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งขึ้นบนเว่ยโป๋ (Weibo) แอปพลิเคชั่นยอดนิยมของจีนที่คล้ายกับทวิตเตอร์ (Twitter) โดยมีการขึ้นข้อความว่า “เรื่องใหญ่ – นายพลสหรัฐฯ เผย เป้าหมายของนาโต้คือ การล้มสหพันธรัฐรัสเซีย”
เนื้อหาของวิดีโอชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยข่าวที่ระบุว่า สหรัฐฯ จะส่งมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงเพิ่มอีก 675 ล้านดอลลาร์ให้กับยูเครน เพื่อใช้ในการรบกับผู้รุกรานชาวรัสเซีย โดยมีการบรรยายว่า
“สหรัฐฯ และประเทศในยุโรปต่างกระตือรือร้นที่จะช่วยยูเครน – พวกเขาอ้างว่า เพื่อปกป้องอธิปไตยของยูเครน แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขามีเป้าหมายของตนเองที่ต้องการบรรลุให้ได้ต่างหาก”
จากนั้น ภาพในคลิปก็ตัดไปที่บทสัมภาษณ์ของพลโทเบน ฮอดเจส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นยุโรป (EUCOM) โดย Times Radio โดยมีเสียงบรรยายว่า
“เมื่อวันที่ 11 กันยายน พลโทเบน ฮอดเจส แห่งสหรัฐฯ อดีตผู้บัญชาการ EUCOM กล่าวว่า เป้าหมายของสหรัฐฯ และประเทศ(สมาชิก)นาโต้[อื่น ๆ] คือ ‘ล้มสหพันธรัฐรัสเซีย’
“… ฮอดเจส ยังกล่าวด้วยว่า นาโต้ควรเตรียมพร้อมที่จะทำลายรัสเซียให้ราบคาบ โดยไม่เหมือนกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่ได้ผลลัพธ์เพียงครึ่งหนึ่งแต่ใช้แรงมากถึง 2 เท่า เขายังเน้นย้ำด้วยว่า ‘เราต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แบบสหภาพโซเวียต’”
คำพูดเหล่านี้เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ผิดไปจากสิ่งที่ ฮอดเจส กล่าวไว้อย่างสิ้นเชิง แต่โพสต์นี้ก็ยังถูกแชร์ออกไปอย่างมากมายบนเว่ยโป๋ และสื่อจีนหลายแห่งก็ได้นำเอาไปตีพิมพ์ต่ออีกหลายต่อหลายครั้งด้วย
ในความเป็นจริง ฮอดเจส เพียงแต่กล่าวว่า ชาติตะวันตกจำต้อง “เตรียมตัวไว้เพื่อรับกับ” เหตุล่มสลายของรัสเซียที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากแรงถ่วงจากสงครามในยูเครนและมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก
คำพูดของ ฮอดเจส ที่ให้สัมภาษณ์แบบคำต่อคำนั้นคือ “ผมคิดว่า มีความน่าจะเป็นอยู่ ผมเชื่อด้วยว่า ด้วยเหตุผลหลายข้อ เราอาจกำลังมองดูจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของสหพันธรัฐรัสเซียที่เห็นกันอยู่ ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า”
ทั้งนี้ อดีตผู้บัญชาการ EUCOM ไม่เคยระบุเลยว่า การล่มสลายของรัสเซียคือเป้าหมายของนาโต้ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ และไม่เคยระบุด้วยว่า นาโต้ หรือ ชาติตะวันตก ตั้งเป้าที่จะทำลายรัสเซีย
คำตอบของ ฮอดเจส ที่ให้กับผู้สัมภาษณ์ของ Times Radio นั้นเป็นเพียงการตั้งคำถามว่า การที่กองกำลังรัสเซียถอยทัพออกจากคาร์คิฟเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน “อาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการสลายตัวของสหพันธรัฐรัสเซีย” หรือไม่
เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ยูเครนทำการโต้กลับกองกำลังรัสเซียที่ครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของประเทศไว้ และไม่ถึง 1 สัปดาห์ กองกำลังของยูเครนเดินหน้าทะลวงพื้นที่ตั้งทางทหารของรัสเซียโดยแทบไม่เผชิญแรงต้านเลย โดยเฉพาะในแคว้นคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ
และภายในวันที่ 11 กันยายน หรือเพียง 4 วัน กองกำลังยูเครนสามารถยึดคืนพื้นที่ของตนได้กว่า 1,100 ตารางไมล์ ตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่กรุงเคียฟ โดยสถาบัน Institute for the Study of War (ISW) ซึ่งเป็นสถาบันมันสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า ขนาดพื้นที่ดังกล่าวนั้นมากกว่าพื้นที่ที่รัสเซียยึดไปตั้งแต่เดือนเมษายนมาด้วย
ในวันที่ 11 กันยายนเช่นกัน รัสเซีย “ยอมรับว่า ตนเสียพื้นที่เกือบทั้งหมดในแคว้นคาร์คิฟทางเหนือ” หลังฝ่ายยูเครนทำการตอบโต้กลับ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทำเนียบเครมลินจะพยายามแย้งว่า การถอยทัพที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแผน “จัดทัพใหม่” ก็ตาม
ขณะเดียวกัน สื่อจีนก็ยังคงรายงานตามคำบอกเล่าของเครมลินว่า การถอยทัพคือการจัดทำใหม่ แม้ในวันที่ 10 กันยายน สถาบัน ISW ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์ของตนที่แสดงให้เห็นภาพตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัสเซียพยายามยืนยัน ว่า
“การโจมตีโต้กลับของยูเครนในคาร์คิฟโอบลาสต์นั้นบีบให้กองกำลังรัสเซียต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งเสบียงและนำมาซึ่งการล่มสลายของแนวหลักดอนบาส (Donbas axis) ทางตอนเหนือ(ของยูเครน)ที่รัสเซียยึดครองอยู่ (และ) รัสเซียไม่ได้กำลังดำเนินการถอนทัพแบบที่มีการวางแผนไว้ และเร่งหนีออกจากคาร์คิฟโอบลาสต์ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหลบภัยจากการโอบล้อมรอบเมืองอิซยุม”
หนังสือพิมพ์ The Washington Post อ้างข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ที่กองทัพยูเครนปลดปล่อยจากการควบคุมของรัสเซีย และรายงานว่า “พวกรัสเซียทิ้งปืนและหนีไปโดยใช้จักรยานที่ขโมยมา และแฝงตนเป็นพลเรือนเมื่อรู้ตัวว่าพวกตนจะต้องถอยทัพแล้ว”
สำนักข่าว CNN ยังเปิดเผยคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์มาก่อนหน้าและทีมงานได้วิเคราะห์และชี้จุดทางภูมิศาสตร์แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นภาพหน่วยทหารรัสเซียที่เร่งเดินทางออกจากพื้นที่รบด้วยความโกลาหล “โดยมีกระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก”
รายงานข่าวระบุว่า กองทหารยูเครนสามารถรุกคืบเข้าไปในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตนได้มากขึ้นนับตั้งแต่เริ่มโจมตีกลับมา และสามารถยึดคืนพื้นที่เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนรัสเซียมาได้ด้วย
และเมื่อวันที่ 13 กันยายน จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว ยืนยันรายงานการถอยทัพของรัสเซียจากในและรอบ ๆ คาร์คิฟโอบลาสต์ โดยเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงทางพลวัต”
นักวิเคราะห์ทางทหารหลายรายเห็นด้วยกับสิ่งที่พลโทฮอดเจสให้สัมภาษณ์กับ Times Radio ว่า พลวัตการสู้รบในเวลานี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นฝั่งยูเครนที่มีความได้เปรียบแล้ว และกองทัพกรุงเคียฟคือ ฝ่ายที่จะตัดสินใจการเดินหน้าทำการรบแทนแล้ว
และหลังการให้สัมภาษณ์กับ Times Radio แล้ว ฮอดเจส ยังได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์ Telegraph ที่ตีพิมพ์ออกมาในวันที่ 13 กันยายนด้วยว่า
“เวลานี้ ผมเชื่อแล้วว่า มีความน่าจะเป็นอย่างชัดเจนว่า ภาวะอ่อนแรงที่ถูกเปิดโปงออกมาของ [ประธานาธิบดีรัสเซีย] วลาดิเมียร์ ปูติน มีความสาหัสมากเสียจน เราอาจจะกำลังร่วมเป็นประจักษ์พยานต่อการเริ่มต้นของจุดจบ – ไม่ใช่เพียงของระบอบการปกครองของเขา (ปูติน) เท่านั้น แต่ยังเป็นของสาธารณรัฐรัสเซียเองด้วย
“อาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยกว่า 120 กลุ่ม กำลังอยู่บนรากฐานที่ไม่ยั่งยืนเสียแล้ว ... การล่มสลายของอาณาจักรนี้อาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก แต่อาจแปรเปลี่ยนมาเป็นเหตุการณ์ที่ยากจะควบคุม เต็มไปด้วยความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนได้”
“ถ้าหากเราประสบความล้มเหลวในการเตรียมตัวเพื่อรับกับความน่าจะเป็นนี้ แบบเดียวกับที่เราเคยล้มเหลวในการเตรียมตัวรับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเด็นนี้อาจนำมาซึ่งความไม่มีเสถียรภาพอย่างใหญ่หลวงต่อภูมิรัฐศาสตร์ของเราได้”
แต่ยังมีนักวิเคราะห์บางส่วนที่ไม่ได้มองเช่นนี้ และกล่าวว่า ปธน.ปูติน ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับการควบคุมอำนาจปกครองประเทศของตนผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้เสมอ ตั้งแต่เหตุการณ์สงครามนองเลือดในเชชเนีย ไปจนถึงภาวะวุ่นวายในตลาดน้ำมันโลก และการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจโดยชาติตะวันตกหลังจากรัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเข้ากับตนในปี ค.ศ. 2014
นอกจากนั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในรัสเซียพบว่า ชาวรัสเซียยังคงสนับสนุนปธน.ปูติน ให้เดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป แม้ว่า ระดับความนิยมของผู้นำเครมลินในต่างประเทศจะตกฮวบไปแล้วก็ตาม
- ที่มา: ฝ่ายตรวจสอบข่าว Polygraph ของวีโอเอ