เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จีนเปิดตัวเรือสำราญลำแรกที่ประกอบในประเทศและมีชื่อว่า Adora Magic City และออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้ที่ไปแวะเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเวลาทั้งหมด 7 วัน
เรือท่องสมุทรใหม่เอี่ยมอ่องลำนี้นำเสนอบริการและงานออกแบบต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ห้องอาหารหลากเมนูจากทั่วโลก ไปจนถึงโรงละครล้ำสมัย และร้านค้าปลอดภาษีขนาดใหญ่หลายร้าน รวมทั้ง ห้องพิเศษสำหรับการเล่นไพ่นกกระจอกและภัตตาคารอาหารหม้อไฟ โดยทั้งหมดนี้ได้รับการวางแผนมาเพื่อรับรองและตอบสนองความต้องการของนักเดินทางที่เป็นชนชั้นกลางของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สื่อรัฐบาลจีนรายงานแสดงความชื่นชมเรือสำราญลำใหม่นี้ที่ต่างระบุว่าเป็น หน้าสำคัญของประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการต่อเรือจีน ทั้งยังเป็นเหมือน “เพชรยอดมงกุฎ” เลยด้วย
และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ สื่อโกลบอลไทมส์ (Global Times) โพสต์ข้อความทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) โดยอ้างถึงคำพูดของสมาคมอุตสาหกรรมต่อเรือแห่งชาติจีนที่ว่า:
“การนำเสนอ Adora Magic City เรือสำราญขนาดใหญ่ลำแรกที่ประกอบในประเทศ แสดงให้เห็นว่า จีนมีความสามารถที่จะผลิตเรือแบบต่าง ๆ ได้แล้ว”
นั่นเป็นความเท็จ
เรือ Adora Magic City นั้นเป็นเรือที่พึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศอย่างมาก
30% เท่านั้นที่ทำในจีน
ผู้ประกอบเรือ Adora Magic City คือบริษัท เซี่ยงไฮ้ ไว่เก๊าเฉียว ชิปบิลดิ้ง คอร์ปอเรชัน (Shanghai Waigaoqiao Shipbuilding Corporation) ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของ China State Shipbuilding Corporation (CSSC) ซึ่งมีรัฐบาลกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าของ
เรือสำราญลำนี้มีน้ำหนัก 135,500 เมตริกตัน ยาว 323 เมตรและมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 5,246 คน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามอุตสาหกรรมต่อเรือ Ship Technology
นอกจากนั้น มีการใช้บริการซัพพลายเออร์ต่างประเทศมากมายเพื่อจัดหาส่วนประกอบมาใช้ต่อเรือ Adora Magic City
เฉิน กัง หัวหน้าทีมนักออกแบบเรือ Adora Magic City บอกกับสื่อท้องถิ่นว่า จากซัพพลายเออร์ 110 รายที่ Shanghai Waigaoqiao ทำงานด้วย มีเพียงราว 30% เท่านั้นที่เป็นบริษัทจีน โดยที่เหลือเป็นบริษัทต่างประเทศทั้งหมด
การใช้เทคโนโลยีต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
ผู้ดูแลเรือ Adora Magic City คือธุรกิจการค้าร่วม CSSC Carnival ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเดินเรือสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน Carnival Corporation และธุรกิจต่อเรือของรัฐบาลจีน China State Shipbuilding Corporation (CSSC)
ในปี 2016 CSSC Carnival ลงนามในสัญญากับบริษัทอู่ต่อเรือ Fincantieri จากอิตาลีซึ่ง “ให้ใบอนุญาตเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มสร้างแบบจำลองเรือและทำหน้าที่จัดหาบริการทางเทคนิคต่าง ๆ” ให้กับ Shanghai Waigaoqiao Shipbuilding Corporation
บริการด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่ว่านั้นรวมความถึง “กิจกรรมด้านการบริหารจัดการโครงการ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และงานขายส่วนประกอบและระบบพื้นฐานทั้งหลาย”
“งานออกแบบภายในเรือจะถูกปรับให้ตรงกับรสนิยมของลูกค้าชาวจีน” ตามข้อมูลที่ Fincantieri ระบุในในข่าวแจกเมื่อปี 2020
ขณะเดียวกัน บริษัท Wartsila ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเดินเรือจากฟินแลนด์ จัดหาระบบควบคุมและระบบทำงานอัตโนมัติ ระบบควบคุมวาล์ว ระบบไฟข้างทางเดิน ระบบนำทาง คอนโซลแผงห้องควบคุมและเครื่องยนต์ และชุดควบคุมเครื่องยนต์อัจฉริยะ
ส่วนกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและวิศวกรรม ABB จากสวิตเซอร์แลนด์ก็ช่วยจัดหาระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรให้เรือสำราญลำนี้
เฉิน กัง หัวหน้าทีมนักออกแบบเรือ Adora Magic City บอกกับสื่อ CarCaijing ของจีนที่รายงานประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการเงิน ว่า ในเวลานี้ จีนยังขาดซึ่งห่วงโซ่อุปทานการต่อเรือสำราญที่ครบวงจร และว่า ซัพพลายเออร์ในประเทศนั้นก็จะจัดหาชิ้นส่วนและส่วนประกอบได้ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองเงื่อนไขความต้องการของงานออกแบบชั้นสูงสำหรับเรือสำราญหรูหราได้ด้วย
เฉิน ยังบอกด้วยว่ายุโรปได้จัดตั้งห่วงโซ่อุปทานสำหรับการต่อเรือสำราญที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ทั้งยังมีระบบจัดหาซัพพลายเออร์ทั้งแบบ Tier 1 และ Tier 2 รวมทั้งระบบวัดมาตรฐานด้วย โดยทั้งหมดนี้ทำให้การที่จีนจะแทรกตัวเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานนี้เป็นไปได้ยาก
ในบรรดาธุรกิจอู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น บริษัท Fincantieri ของอิตาลีคือ หนึ่งในนั้น และยังมีบริษัท ไมเยอร์ เฟร์ฟต์ (Meyer Werft) ในเยอรมนี และ เอสทีเอ็กซ์ ยุโรป (STX Europe) ซึ่งมีที่ทำการทั้งในฟินแลนด์และฝรั่งเศสด้วย
เฉิน ยังให้ความเห็นด้วยว่า แม้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หาได้ในจีนจะมีมาตรฐานอุตสาหกรรมตามที่กำหนดไว้ ราคาก็จะแพงจนแข่งกับซัพพลายเออร์นอกประเทศไม่ได้ และว่า “อาจต้องมีการนำเข้าวัสดุต่าง ๆ และนั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดการลดต้นทุนจากการสั่งซื้อหรือผลิตเป็นจำนวนมากได้”
อย่างไรก็ตาม การเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ของ Adora Magic City ยังคงแสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันของจีนที่จะขยายธุรกิจนี้ไปทั่วภูมิภาค เพื่อที่จะให้ตนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการต่อเรือสำราญในที่สุด
การดำเนินธุรกิจร่วมทุนที่เกิดขึ้นในจีนเพื่อประกอบเรือดังกล่าวก็เข้ากับวิธีการของจีนที่มักใช้เพื่อเข้าถึงและจัดหาเทคโนโลยีทั้งหลาย โดยรัฐบาลกรุงปักกิ่งเองก็มีประวัติในการตั้งเงื่อนไขให้นักลงทุนจากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางประเภทต้องร่วมจัดตั้งธุรกิจร่วมทุนกับหุ้นส่วนจีนเพื่อจะเจาะตลาดในประเทศนี้ได้
เจมส์ แอนดรูว์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเทคโนโลยีจาก Center for Strategic and International Studies (CSIS) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุในรายงานที่มีการตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้วว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการตั้งธุรกิจร่วมทุนนั้นคือ วิธีการโอนถ่ายเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในจีนอยู่แล้ว
ในกรณีการทำธุรกิจร่วมทุนนั้น บริษัทของจีนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและวิธีการบริหารหลัก ๆ ของต่างประเทศได้ ก่อนจะพลิกกลับมาทิ้งคู่ร่วมทุนจากต่างชาติและทำการผลิตเองให้ได้ปริมาณที่มากกว่าและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph ของ วีโอเอ