เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีนให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกระดับของความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือ เกาหลีเหนือ ทดสอบยิงขีปนาวุธวิถีโค้ง 3 ลูก ขณะที่ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เดินหน้าโครงการร่วมซ้อมรบกันอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 กันยายนของปีที่แล้ว เกาหลีเหนือผ่านกฎหมายที่มีเนื้อหาประกาศตัวเป็นรัฐที่ครอบครองนิวเคลียร์ และ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุด กล่าวว่า สถานภาพดังกล่าว “ไม่สามารถย้อนกลับได้อีก” โดยปีที่แล้ว เกาหลีเหนือทดสอบยิง ขีปนาวุธออกมาถึงกว่า 70 ลูก ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปีก่อน ๆ ตามข้อมูลจากสื่อยอนฮัพ
stalemates:
“เหตุผลหลักก็คือ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะตอบรับมาตรการปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีดำเนินการ และยังเดินหน้ายกระดับแรงกดดันและการกีดขวางเกาหลีเหนือ”
นี่เป็นคำกล่าวที่ทำให้สังคมเข้าใจผิด
สหรัฐฯ และประชาคมโลกได้ทำการเจรจากับกรุงเปียงยางมาเป็นเวลาหลายทศวรรษเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “การปลดอาวุธนิวเคลียร์” ของเกาหลีเหนือ และความพยายามด้านการทูตต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดวิกฤตทับซ้อนกันหลายอย่าง รวมทั้ง ภาวะชะงักงัน และความคืบหน้าชั่วคราว
คำกล่าวอ้างว่า กรุงเปียงยางได้ดำเนิน “มาตรการปลดอาวุธนิวเคลียร์” ที่โฆษกหวังพูดออกมานั้นน่าจะหมายถึง กรณีข้อตกลง Agreed Framework ที่เกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ร่วมทำกันไว้และมีเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือจะระงับโครงการพัฒนาอาวุธพลูโตเนียมไว้ชั่วคราวเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือละเมิดเงื่อนไขที่ทำไว้และข้อตกลงดังกล่าวล้มพับลงในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2003 หลังกรุงเปียงยางประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์และเริ่มกลับมาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง
ความเป็นมาของสถานการณ์ทั้งหมดนี้ เริ่มต้นตั้งแต่
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เกาหลีเหนือสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในเมืองยองบยอน แม้ว่า กรุงเปียงยางจะเข้าร่วมสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ในปี ค.ศ. 1985 ก็ตาม
ต่อมาในปี ค.ศ. 1993 มีหลักฐานชัดเจนว่า เกาหลีเหนือตระบัดสัตย์ที่ให้ไว้กับสนธิสัญญาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธคำร้องขอจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ภายใต้องค์การสหประชาชาติที่ส่งมาหลายครั้งเพื่อเข้าตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษด้วย
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งวิกฤต จากการที่เกาหลีเหนือประกาศความตั้งใจถอนตัวออกจากสนธิสัญญาที่ว่า และหน่วยงาน IAEA ประกาศว่า จะไม่สามารถรับรองต่อไปได้อีกว่า เกาหลีเหนือใช้วัสดุนิวเคลียร์เพื่อจุดประสงค์ด้านสันติภาพจริงหรือไม่
และหลังจากมีการเจรจากันหลายรอบระหว่างกรุงวอชิงตันและกรุงเปียงยาง รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้สรุปความของการทำข้อตกลง Agreed Framework กับเกาหลีเหนือในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1994
ภายใต้ข้อตกลงนี้ เกาหลีเหนือยินยอมที่จะระงับเครื่องปฏิกรณ์ผลิตพลูโตเนียมและกิจกรรมที่โรงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในเมืองยองบยอน และ IAEA จะเป็นผู้ตรวจสอบว่า เกาหลีเหนือปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการดำเนินที่ว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะให้งบสนับสนุนและการสร้างเครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำเดือดต้านการแพร่ขยาย (proliferation-resistant light-water reactor : LWR) จำนวน 2 เครื่องให้กับเกาหลีเหนือ
นอกจากนั้น เกาหลีเหนือจะรื้อโรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมดในเมืองยองบยอน ทันทีที่โครงการสร้าง LWR เสร็จสมบูรณ์ และในช่วงหลังเครื่อง LWR เครื่องแรกเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังมีการก่อสร้างเครื่องที่ 2 อยู่ สหรัฐฯ จะจัดส่งน้ำมันความหนาแน่นสูงจำนวน 500,000 ตันต่อปีให้กับเกาหลีเหนือ เพื่อชดเชย “พลังงานที่หดหายไปเนื่องจากการระงับ” เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยองบยอน
ทั้งหมดที่ว่ามานี้เกิดขึ้นจริง แม้ว่า เครื่องปฏิกรณ์ที่ยองบยอน “ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและน่าจะถูกออกแบบมาเพียงเพื่อผลิตพลูโตเนียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอาวุธนิวเคลียร์” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Washington Post
ข้อตกลง Agreed Framework ระบุว่า สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือต้องทำงานร่วมกัน “เพื่อสันติภาพและความมั่นคง สำหรับคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากนิวเคลียร์” และ “เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบการปกครองไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ” ตราบเท่าที่เกาหลีเหนือยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์อยู่
หลังลงนามใน Agreed Framework แล้ว เกาหลีเหนือสั่งปิดโรงงานในยองบยอน ซึ่ง IAEA ตรวจสอบและรับรองในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1994 และเมื่อการก่อสร้างเครื่อง LWR ของเกาหลีเหนือเริ่มต้นขึ้น สหรัฐฯ ก็นำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงความหนาแน่นสูงให้ตามสัญญาทุกปี
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเครื่อง LWR นั้นล่าช้ากว่ากำหนด ขณะที่ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงความหนาแน่นสูงก็ประสบเหตุล่าช้า โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันต่อต้านข้อตกลงที่ว่า เพราะมองว่าเป็น “การเอาใจ” ด้วยการให้รางวัลกับเกาหลีเหนือ แม้จะมีพฤติกรรมที่แย่
และเมื่อเกาหลีเหนือทำการยั่วยุมากขึ้น แรงต้านข้อตกลงในสภาคองเกรสก็ยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น
พฤติกรรมที่ว่านั้นมีตัวอย่างเช่น ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 จนถึงช่วงปี 2000 เกาหลีเหนือเร่งส่งออกเทคโนโลยีขีปนาวุธวิถีโค้งของตนไปยังหลายประเทศ โดยมีลูกค้ารายใหญ่ อาทิ อิหร่าน ซีเรีย อียิปต์ ลิเบีย และปากีสถาน โดยการกระทำดังกล่าวกลับยิ่งยกระดับความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธในโลก
ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1996 สหรัฐฯ ส่งเรือลาดตระเวณและเครื่องบินรบไปยังญี่ปุ่น หลังตรวจพบว่า เกาหลีเหนือกำลังเตรียมทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง ‘โนดง’
ในวันที่ 31 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1998 เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธ แทโพดง-1 ซึ่งมีความสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ข้ามประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่สัญญาโครงการสร้างเครื่อง LWR และ 2 เดือนต่อมา รายงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่า เกาหลีเหนือกำลังสร้างโรงงานทดสอบใหม่ 2 แห่งเพื่อโครงการขีปนาวุธ แทโพดง-1
การทดสอบขีปนาวุธในปี ค.ศ. 1998 ทำให้โครงการสร้างเครื่อง LWR ล่าช้าออกไป ทั้งยังทำให้รัฐบาลปธน.คลินตันต้อง ทำการทบทวนนโยบายสหรัฐฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือทันที
สถานีโทรทัศน์ PBS (Public Broadcasting Service) รายงานว่า โดนัลด์ เกรกก์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการยั่วยุจากเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นหลังการทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ไว้ว่า:
“กิจกรรมที่ดูมุ่งร้ายนั้นทำให้สมาชิกพรรครีพับลิกัน (และ)ประชาชนในเกาหลีใต้โกรธเป็นไฟ ทำให้เกิดการล่าช้าต่อการขนส่งน้ำมัน และเป็นส่วนที่ทำให้มีความล่าช้าอย่างมากต่อการสร้างเครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด ซึ่งเกาหลีเหนือไม่เคยยอมรับเลย”
ถึงกระนั้น ข้อตกลงนั้นมีผลบังคับใช้ได้จนถึงปี ค.ศ. 2002 เมื่อสหรัฐฯ อ้างข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองและกล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ทำการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อใช้กับอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ และกรุงเปียงยางก็ออกมายืนยันในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันนี้ว่า ตนได้ทำการดังว่าจริงและอ้างว่า ตนมีสิทธิ์จะทำเช่นนั้น
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงตอบโต้กรณีดังกล่าว ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2002 โดยระบุว่า “โครงการอาวุธนิวเคลียร์ลับของเกาหลีเหนือ คือ การละเมิดพันธกรณีต่าง ๆ ของเกาหลีเหนือภายใต้ Agreed Framework และสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ ข้อตกลงมาตรการปกป้อง IAEA ที่ตนทำไว้ และแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลี”
รัฐบาลยุคอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตอบโต้เกาหลีเหนือด้วยการระงับการนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงความหนาแน่นสูง โดยการขนส่งเที่ยวสุดท้ายก็คือ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2002
จากนั้น กรุงเปียงยางขับทีมตรวจสอบของ IAEA ออกนอกประเทศในเดือนธันวาคม และถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2003 รวมทั้ง สั่งเปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และโรงงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ถูกปิดไปก่อนหน้าภายใต้ข้อตกลง Agreed Framework อีกครั้ง
และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือครั้งที่ 2 ก่อนจะเริ่มการเจรจาทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีรอบใหม่ที่ใช้เวลานานกว่าทศวรรษ ที่มีจุดประสงค์เพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ จวบจนทุกวันนี้
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ