ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จีนปั่นข่าวความช่วยเหลือยูเครนจากสหรัฐฯ ให้คนเข้าใจผิด จริงหรือไม่


A Patriot missile mobile launcher is displayed outside the Fort Sill Army Post near Lawton, Oklahoma, March 21, 2023. Soldiers from Ukraine have been training on the weapon system at Fort Sill since January. (Sean Murphy/AP)
A Patriot missile mobile launcher is displayed outside the Fort Sill Army Post near Lawton, Oklahoma, March 21, 2023. Soldiers from Ukraine have been training on the weapon system at Fort Sill since January. (Sean Murphy/AP)
หนังสือพิมพ์ Global Times

หนังสือพิมพ์ Global Times

หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลจีน

“ประธานคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยัน: เพียง 20% ของความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ใหัยูเครนไปถึงมือกรุงเคียฟ และ 60% นั้นเป็นการนำส่งภายในสหรัฐฯ”

ทำให้สังคมเข้าใจผิด

นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ นำส่งความช่วยเหลือทางการเงินและด้านความมั่นคงให้กับยูเครนเป็นมูลค่าถึงกว่า 113,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ สมาชิกสภาคองเกรสจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับระบบตรวจสอบและประเด็นภาระการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านนี้กันแล้ว

แต่ในการรับฟังข้อมูลของสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 29 มีนาคม เกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ส่งให้ยูเครน ไม่มีการพบหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า เกิดเหตุทุจริตการใช้งบประมาณก้อนนี้

ในการกล่าวเปิดกระบวนการดังกล่าว ส.ส.ไมเคิล แมคคอล ประธานคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะโต้แย้งว่า การสนับสนุนยูเครนนั้นมีความสำคัญหรือไม่ แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ นั้น “ถูกนำไปใช้อย่างที่ตั้งใจจริง”

ส.ส.แมคคอล กล่าวว่า:

“จากงบประมาณ 113,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกจัดสรรผ่านกฎหมาย 4 ฉบับ มีประมาณ 60% ที่จัดส่งไปยังทหารอเมริกัน เจ้าหน้าที่อเมริกัน และเพื่อปรับปรุงคลังอาวุธอเมริกันให้ทันสมัยขึ้น

“อันที่จริง มีเพียง 20% ของงบที่ถูกส่งไปถึงรัฐบาลยูเครนโดยตรง ในรูปของการช่วยเหลือด้านงบประมาณโดยตรง”

และเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Global Times ของรัฐบาลจีน ฉวยโอกาสนำคำแถลงของ ส.ส.แมคคอล มารายงาน โดยโพสต์คลิปวิดีโองานรับฟังข้อมูลสภาคองเกรสดังกล่าวขึ้นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เว่ยโป๋ (Weibo) ซึ่งเหมือนกับทวิตเตอร์ โดยมีการขึ้นคำบรรยายประกอบวิดีโอว่า:

“ประธานคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยัน: เพียง 20% ของความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ใหัยูเครนไปถึงมือกรุงเคียฟ และ 60% นั้นเป็นการนำส่งภายในสหรัฐฯ”

เป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิด

ในความเป็นจริง กระบวนการจัดสรรเงินช่วยเหลือยูเครนของสหรัฐฯ เป็นไปดังนี้

ในปี 2022 สภาคองเกรสสหรัฐฯ จัดสรรงบประมาณกว่า 113,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยยูเครน ผ่านมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพิ่มเติมแบบฉุกเฉินในเดือนมีนาคม (14,000 ล้านดอลลาร์) เดือนพฤษภาคม (40,000 ล้านดอลลาร์) เดือนกันยายน (14,000 ล้านดอลลาร์) และเดือนธันวาคม (45,000 ล้านดอลลาร์) (ทั้งนี้ ตัวเลขทั้งหมดเป็นการปัดให้ได้จำนวนเต็ม)

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้อธิบายข้อมูลสถิติให้ฝ่าย Polygraph ของวีโอเอเข้าใจ แต่ไม่สามารถนำรายละเอียดมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจทำการเช่นนั้น อย่างไรก็ดี ตัวเลขงบช่วยเหลือทั้งหมดที่ราว 113,400 ล้านดอลลาร์ให้กับยูเครนนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้:

  • 44,270 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสนับสนุนการยกระดับแผนการส่งทหารสหรัฐฯ ไปยังยุโรป และสำหรับการเติมและปรับปรุงคลังอาวุธของสหรัฐฯ ให้ทันสมัย
  • 22,730 ล้านดอลลาร์ สำหรับอุตสาหกรรมทหารของสหรัฐฯ เพื่อจัดส่งอาวุธให้กับยูเครนและพันธมิตรและหุ้นส่วนในยุโรปที่เผชิญหน้ากับการรุกรานของรัสเซีย
  • 22,900 ล้านดอลลาร์ สำหรับรัฐบาลยูเครนเพื่อใช้กับงานบริการที่มีความสำคัญต่าง ๆ เช่น หน่วยกู้ชีพเบื้องต้น (ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลข “20%” ที่ ส.ส.แมคคอล ระบุ)
  • 18,700 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านอื่น ๆ ให้กับยูเครน และประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมความถึงการแก้ไขปัญหาความมั่นคงอาหารโลกผ่านหุ้นส่วนทั่วโลกของสำนักความมั่นคงทางอาหารและการปรับฟื้นตัว ภายใต้หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID)
  • 4,810 ล้านดอลลาร์ สำหรับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับยูเครน

ตัวเลข “ราว 60%” ที่ ส.ส.แมคคอล กล่าวว่า จะ “จัดส่งไปยังทหารอเมริกัน เจ้าหน้าที่อเมริกัน และเพื่อปรับปรุงคลังอาวุธอเมริกันให้ทันสมัยขึ้นนั้น มาจากการคิดรวมตัวเลข 2 ตัวแรก ซึ่งก็คือ 44,270 ล้านดอลลาร์และ 22,730 ล้านดอลลาร์ จนได้ 67,000 ล้านดอลลาร์ ที่เท่ากับประมาณ 59.3% ของงบประมาณรวม

ส่วนตัวเลข 20.04% นั้นเป็นงบที่ใช้สำหรับแนวคิดริเริ่มความช่วยเหลือด้านความมั่นคงยูเครน (Ukraine Security Assistance Initiative -- USAI) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสำหรับแผนงานสนับสนุนด้านการเงินสำหรับกองทัพต่างประเทศ (Foreign Military Financing -- FMF) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยตรงจากอุตสาหกรรมทหารของอเมริกา เพื่อนำส่งไปยังยูเครนและพันธมิตรและหุ้นส่วนอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคยุโรป ตามข้อมูลที่แหล่งข่าวอธิบายให้ฝ่าย Polygraph ฟัง

มาร์ค แคนเชียน ที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศ ณ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองในกรุงวอชิงตัน เห็นด้วยกับการแจกแจงตัวเลขที่แหล่งข่าวของ Polygraph อธิบายมาข้างต้น

แคนเชียน กล่าวว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ให้กับยูเครนนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม

  • ความช่วยเหลือทางทหาร
  • ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
  • การสนับสนุนทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลยูเครน ซึ่งถูกจัดส่งไปยังกรุงเคียฟโดยตรง “เพื่อช่วยให้ปฏิบัติการต่าง ๆ เดินหน้าต่อไป เนื่องจากภาวะสงครามนั้นส่งผลให้เครื่องมือของรัฐบาลในการจัดเก็บรายได้ต้องหยุดชะงักไป..”
  • ต้นทุนปฏิบัติการของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับยูเครน เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการเคลื่อนย้ายบุคลากรของสถานทูต การดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม และการดำเนินมาตรการลงโทษต่าง ๆ

นอกจากนั้น แคนเชียน ยังแตกตัวเลขความช่วยเหลือทางทหารซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเครนกำลังต้องการมากที่สุดในเวลานี้ ออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ 4 กลุ่มดังนี้:

  • การสนับสนุนทางทหารระยะสั้น ซึ่ง “รวมความถึง การเคลื่อนย้ายอาวุธ ทั้งของสหรัฐฯ เองและที่สั่งซื้อมาจากพันธมิตร และการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารของยูเครน รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง”
  • การสนับสนุนทางทหารระยะยาว ซึ่ง “รวมถึงเงินที่ยูเครนสามารถใช้เพื่อซื้ออาวุธใหม่ที่ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ แต่ก็มีมาจากประเทศอื่นด้วย” โดยงบประมาณสนับสนุนกลุ่มนี้ “น่าจะเป็นเงินสนับสนุนการฟื้นฟูกองทัพยูเครนหลังสงครามจบลง แต่ไม่รวมถึงปฏิบัติการที่ยังดำเนินอยู่”
  • ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ: นับตั้งการรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 เพนตากอนได้ส่งหรือยืดระยะเวลาประจำการของทหารกว่า 20,000 นายในยุโรปเพื่อตอบโต้เรื่องนี้ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งทหารนั้นสูงเกินกว่างบประมาณที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วางไว้ จุดนี้จึงเป็นส่วนที่อธิบายประเด็นที่ ส.ส.แมคคอล พูดว่า มีความช่วยเหลือที่ “ส่งไปยังทหารอเมริกัน” นั่นเอง
  • แผนงานสนับสนุนต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ: ซึ่งรวมความถึงกิจกรรมที่ใช้เตรียมกระทรวงฯ ให้พร้อมรับสถานการณ์ความขัดแย้งในอนาคต “โดยบางส่วนมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ในยูเครนเล็กน้อย”

แคนเชียน บอกกับฝ่าย Polygraph ว่า ยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมมูลค่าราว 25,000 ล้านดอลลาร์นั้นถูกส่งไปยังยูเครน ผ่านการใช้อำนาจเบิกถอนของประธานาธิบดี หรือ PDA (Presidential Drawdown Authority) ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน สามารถใช้เพื่อสั่งให้มีการนำส่งพัสดุด้านการทหารต่าง ๆ จากคลังของกระทรวงกลาโหมออกไปทันที โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากสภาคองเกรส

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมต้องรักษาระดับยุทโธปกรณ์ในคลังของตนให้อยู่ในระดับหนึ่งสำหรับแผนงานด้านสงครามและการฝึกอบรมของกองทัพสหรัฐฯ ดังนั้น หลังมีการส่งอาวุธออกจากคลังไปให้ยูเครนแล้ว กระทรวงกลาโหมต้องสั่งซื้อเพิ่มจากอุตสาหกรรมทางทหารเพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ส่งออกไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดงบประมาณเพื่อเติมอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือ backfilling ซึ่งส่วนนี้จะเป็นผลดีต่อคนงานสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมนี้ไปโดยปริยาย

สำหรับบริษัทหลัก ๆ ในอุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ที่ได้ประโยชน์จากงบประมาณนี้ มีอาทิ ล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) บริษัท เรย์ธีออน เทคโนโลยีส์ (Raytheon Technologies) บริษัท โบอิ้ง (Boeing) บริษัท นอร์ธรอบ กรัมแมน (Northrop Grumman) และบริษัท เจเนอรัล ไดนามิกส์ (General Dynamics)

แคนเชียน กล่าวเสริมว่า ยูเครนยังได้ลงนามในสัญญากับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทางทหารของสหรัฐฯ เพื่อสั่งซื้อยุทโธกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้เงินช่วยเหลือที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้ด้วย และระบุว่า “จุดนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนงานในสหรัฐฯ แม้ว่า จะมีไม่กี่อย่างที่ต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศก็ตาม”

ในเวลานี้ สหรัฐฯ กำลังจัดส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารทั้งที่เป็นรุ่นเก่าและรุ่นปัจจุบันไปให้ยูเครน ซึ่งหมายความว่า เงินที่จัดสรรไว้บางส่วนสำหรับงบช่วยเหลือยูเครนจะถูกนำไปใช้ “เพื่อปรับปรุงคลัง(อาวุธ)อเมริกันให้ทันสมัยขึ้น” – ซึ่งก็คือ การทดแทนอาวุธที่ส่งให้ยูเครนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยกว่าและใหม่กว่านั่นเอง

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG