เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เรียกร้องให้มีการสืบสวนในระดับสากลต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมในทะเลจีนใต้ โดยกรุงมะนิลากล่าวหาจีนว่า ทำลายระบบนิเวศทางทะเล หลังยามฝั่งฟิลิปปินส์เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมออกมามากมายที่แสดงให้เห็นถึงแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักที่รอบ ๆ แนวสันดอนสการ์โบโรห์โชล (Scarborough Shoal)
จีนได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวที่ว่า และยังย้ำการถือครองสิทธิ์ของตนเหนือเกาะทิตู (Thitu Island) ที่ฟิลิปปินส์บริหารจัดการอยู่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ เกาะพัก-อาซา (Pak-asa Island) หรือ จงเหอเต๋า ในภาษาจีน ในหมู่เกาะสแปรตลีย์
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมว่า:
“ฟิลิปปินส์เข้ายึดครองเกาะจงเหอเต๋า และดำเนินปฏิบัติการต่าง ๆ บ่อยครั้ง ที่ใกล้กับน่านน้ำของจงเหอเต๋า ถ้าหากจะมีการเสื่อมสลายทางสิ่งแวดล้อมในพื้นน้ำแถบนั้น ก็เป็นฟิลิปปินส์ที่ต้องทบทวนพฤติกรรมของตนเอง แทนที่จะมากล่าวหาจีนอย่างผิด ๆ”
นี่เป็นความเท็จ
ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ที่กรุงเฮก ไม่ได้ยอมรับคำกล่าวอ้างของจีนเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ จีน คือ ผู้ก่อมลพิษหลักในทะเลจีนใต้ที่ซึ่งการสร้างเกาะ ขุดลอก และทำการประมงเกินขีดจำกัดของจีนเป็นสาเหตุของความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการ Asia Maritime Transparency Initiative (AMTI) แห่ง Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า จีนนั้นมี “บทบาทมากที่สุด” ใน “สภาพแวดล้อมทางทะเลที่ถดถอยในทะเลจีนใต้”
ในผลการสืบสวนที่เปิดเผยออกมาเมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 AMTI เปิดโปงพฤติกรรมต่าง ๆ ของจีนที่นำมาซึ่งสภาพเสื่อมสลายของสิ่งแวดล้อมในน่านน้ำดังกล่าว
ขณะเดียวกัน จีนยังคงเดินหน้าความพยายามยืนยันสิทธิ์ของตนเหนือผืนน้ำทะเลจีนใต้ด้วยการส่งกองทัพของตนไปประจำที่หมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ และสร้างเกาะเทียมขึ้นมาด้วย
กระบวนการสร้างเกาะเทียมของจีนนั้นมีทั้งการขุดลอกพื้นทะเลและการถทพื้นทะเลที่ขุดขึ้นมาลงไปทับบรรดาปะการังต่าง ๆ ด้วย
“กระบวนการนี้เป็นการก่อกวนก้นทะเล ทำให้เศษตะกอนเนื้อหยาบซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายได้ง่าย ๆ ทั้งยังทำให้ความสามารถของปะการังในการฟื้นฟูซ่อมแซมตนเองสะดุดลงได้คละคลุ้งไปทั่วท้องน้ำ” ตามรายละเอียดของรายงานนี้ “ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่า จีนได้ทำลายปะการังไปมากที่สุดด้วยการขุดลอกและถมทะเลซึ่งทำให้แนวปะการังราว 4,648 เอเคอร์ต้องถูกฝังกลบไป”
รายงานนี้ยังกล่าวว่า ความเสียหายโดยรวมต่อแนวปะการังในทะเลจีนใต้เพราะการกระทำของจีนนั้นครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางกว่าที่ว่าด้วย
AMTI ยังวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์ เพื่อประกอบการตรวจสอบก่อนจะสรุปว่า จีนนั้นได้ “ทำลายหรือสร้างความเสียหายร้ายแรง” ต่อพื้นที่แนวปะการังอย่างน้อย 21,183 เอเคอร์ – และอาจสูงกว่านั้น” – ด้วยการขยายพื้นที่เกาะและการกว้านขุดหาหอยลายยักษ์”
แต่จีนก็ออกมาโต้และกล่าวอ้างว่า ผู้จัดทำรายงานนี้อ้างอิง “ภาพถ่ายดาวเทียมไม่กี่ภาพ” และโหมกระพือ “ข้อกล่าวหาเท็จที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน” เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ “ทั้งไม่มีมูลความจริงหรือตรวจสอบได้เลย”
อย่างไรก็ตาม องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมทั้งนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต่างกล่าวว่า จีนนั้นได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลจริง
เมื่อปี 2013 ฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮก ที่มีเนื้อหาแย้งว่า คำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นน้ำส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้นั้นละเมิดสิทธิ์ของฟิลิปปินส์ต่อเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ซึ่งกินพื้นที่เป็นระยะทาง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศ รวมทั้งต่ออาณาเขตทางทะเลของฟิลิปปินส์ด้วย
ในคำพิพากษาที่ออกมาเมื่อปี 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรตัดสินปฏิเสธคำกล่าวอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของกรุงปักกิ่ง และชี้ว่า “กิจกรรมของจีนเพื่อสร้างเกาะเทียมเหนือแนวปะการัง 7 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงและมีผลยาวนานต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล”
นอกจากนั้น ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกล่าวว่า “ด้วยกิจกรรมการสร้างเกาะในทะเลจีนใต้ กรุงปักกิ่งได้ละเมิดหลายมาตราของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งรวมถึงการที่รัฐต่าง ๆ นั้นมี “ภาระผูกพันที่จะปกป้องและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล” ด้วย
ศาลแห่งนี้ยังพบว่า จีน “ได้ดำเนินการขุดลอกในแบบที่สร้างมลพิษจากเศษตะกอนต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลซึ่งละเมิดมาตรา 194(1) และยังได้ละเมิดภาระหน้าที่ของตนภายใต้มาตรา 194(5) ที่จะต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อปกป้องและอนุรักษ์ระบบนิเวศอันบอบบางและหายาก รวมทั้งที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เผชิญภัยคุกคาม หรือที่เหลืออยู่ไม่มาก และสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่น ๆ”
การที่จีน “สร้างเกาะขึ้นมา เป็นการทำลายแนวปะการังที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” นักวิจัยในสหรัฐฯ ที่อ้างการให้ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ระบุในรายงานที่ได้รับการตรวจสอบทบทวนโดยนักวิชาการอื่น ๆ และตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อปี 2019
โครงการ Asia Maritime Transparency Initiative (AMTI) ยังพบด้วยว่า การทำประมงเชิงอุตสาหกรรมที่มีการใช้อวนลาก “ไปตามพื้นที่เป็นวงกว้างของก้นทะเล” ของจีนได้ทำลายระบบนิเวศที่ก้นทะเลของทะเลจีนใต้ “ด้วยการถอนปะการังและฟองน้ำขึ้นมา พร้อม ๆ กับการกวนตะกอนให้ลอยฟ่อง”
ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางการทำประมงอันเป็นอันตรายของจีนยังขยายวงครอบคลุมเกินพื้นที่ทะเลจีนใต้ด้วย
เรือประมงของจีนมักทำการจับปลาโดยผิดกฎหมายอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะที่บริเวณนอกชายฝั่งอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของภูมิภาคนั้นอย่างยิ่ง
ฟิลิปปินส์ยังกล่าวหาจีนว่า ทำการสร้างเกาะเทียมโดยผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนด้วย
เมื่อเดือนกันยายนปี 2023 เจย์ ทาร์ริเอลา โฆษกหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า กองกำลังฟิลิปปินส์ได้เปิดโปง “ความเสียหายรุนแรง” ที่กองกำลังจีน “กระทำต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและแนวปะการัง”
ทาร์ริเอลา กล่าวว่า การสำรวจที่สันดอนซาบินาโชล (Sabina Shoal) หรือเอสโคดาโชล (Escoda Shoal) ในฟิลิปปินส์ “แสดงให้เห็นถึงภาวะเปลี่ยนสีที่ก้นทะเลอันเห็นได้ชัด” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จีนพยายาม “ดัดแปลงลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติของอาณาเขตใต้น้ำของตน” และสร้างผืนดินจากดินใต้น้ำ
และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเรื่องการสร้างเกาะเทียม หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็กล่าวหาฟิลิปปินส์ว่า ทำการเผยแพร่ข่าวลือและใส่ไฟจีนเพื่อ “ทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิด”
กรุงปักกิ่งยังพยายามเบี่ยงเบนประเด็นข้อกล่าวหาที่ตนเผชิญด้วยการให้สถานีข่าวภาคภาษาอังกฤษของรัฐบาล CGTN โพสต์คลิปวิดีโอทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่จีนระบุว่าเป็นภาพของ “ชาวประมงฟิลิปปินส์”
คลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงภาพของชาวประมงรายหนึ่งกำลังถ่มน้ำลายลงในทะเลจีนใต้ ขณะที่ อีกคนทิ้งอะไรบางอย่างลงไปในน้ำ โดยสื่อ CGTN เขียนคอมเมนท์ประกอบโพสต์นี้ว่า “ใครกันแน่ที่ทำลายทะเลจีนใต้? ลองดูเอาเองสิ!”
นี่เป็นการปล่อยข้อมูลเท็จที่ได้ฟังแล้วอึ้ง หากจะต้องเทียบภาพชาวประมงถ่มน้ำลายกับการขุดลอกทะเล การสร้างเกาะเทียม และการประมงเกินขีดจำกัดของจีนที่สร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมทางทะเลของทะเลจีนใต้
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ