เมืองเป่าติ้ง ในมณฑลเหอเป่ย์ ทางภาคเหนือของจีน กลายมาเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดชื่อหนึ่งในระบบค้นหาของเว็บไซต์เว่ยโป๋ (Weibo) เมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมแฮชแท็ก #BaodingOutbreak# ที่ติดกระแสไวรัลไปทั่ว
ที่มาของกระแสที่ว่านี้เกิดขึ้น หลังทางการจีนประกาศยกเลิกมาตรการจำกัดคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 หลังเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศมาระยะหนึ่ง โดยผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุตินโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ไปพร้อม ๆ กับกฎที่บังคับให้ประชาชนต้องมาเข้าแถวรับการตรวจหาการติดเชื้อ มาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานและมาตรการบังคับกักตัวเฝ้าระวังอาการด้วย
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม หน่วยงานสาธารณสุขของจีนสั่งพักนโยบายบังคับตรวจหาเชื้อโควิด-19 และนโยบาย “รหัสสุขภาพสีเขียว” สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าใช้บริการในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ รวมทั้ง สั่งลดการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อันแสนเข้มงวดด้วย
แต่แม้ชาวจีนจำนวนมากจะออกมาแสดงความยินดีที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ กลับมีกระแสความกลัวรอบใหม่เกี่ยวกับการกลับมาของการระบาดระลอกใหม่แทน โดยเฉพาะในเมืองเป่าติ้ง ที่มีประชากรราว 9 ล้านคนแต่มีหลักฐานต่าง ๆ ปรากฏขึ้นมากมายที่สนับสนุนความรู้สึกกลัวที่ว่านี้
นับตั้งแต่สิ้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ทางการเมืองเป่าติ้งรายงานมาตลอดว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ซึ่งมีการยืนยันเพิ่มเลยและมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเพียงไม่กี่คน แต่ในวันที่ 3 ธันวาคม ประชาชนเมืองนี้เริ่มโพสต์ข้อความต่าง ๆ กันมากมายผ่านแพลตฟอร์มเว่ยโป๋ ซึ่งเป็นเหมือนทวิตเตอร์สำหรับชาวจีน เพื่อรายงานว่าตนมีอาการป่วยหรือรู้สึกหงุดหงิดใจอย่างไรกันบ้าง
ในการนี้ แฮชแท็ก #BaodingOutbreak# กลายมาเป็นกระแสหลักที่ทำให้มีผู้เข้ามาอ่านโพสต์ต่าง ๆ กันถึง 54 ล้านครั้งภายในวันที่ 4 ธันวาคมเพียงวันเดียว โดยเป็นวันที่หน่วยงานสาธารณสุขยังคงรายงานว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ที่ได้รับการยืนยันและผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแม้แต่คนเดียวในเมืองนี้
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการสุขภาพของมณฑลเหอเป่ย์ ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ในเมืองเป่าติ้ง ในรายงานสถิติประจำวันเลย
“ตั้งแต่เวลา 0.00 ถึง 24.00 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2565 มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ได้รับการยืนยัน 1 ราย (ใน ชื่อเจียจวง) และกรณีการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเพิ่มอีก 195 ราย ในมณฑลเหอเป่ย์ ซึ่งรวมความถึง 146 รายใน ชื่อเจียจวง 36 รายใน ฉินฮวงเต๋า 5 รายใน หลางฟาง 2 รายใน เฉิงเตอ 2 รายใน ซิงไต่ 2 รายใน หานตาน 1 รายใน ช่างโจว และ 1 รายใน เหิงสุ่ย”
แต่เมื่อมาพิจารณาคำกล่าวอ้างของประชาชนในเมืองเป่าติ้งแล้ว รายงานที่ว่านี้ก็ดูไม่สะท้อนภาพความจริงสักเท่าใด แต่กลับยิ่งทำให้เห็นว่า ทางการจีนยังคงมีปัญหาในการดำเนินมาตรการอันเหมาะสมเพื่อควบคุมภาวะการระบาดใหญ่และติดตามเส้นทางการแพร่ระบาดอยู่
ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองเป่าติ้งจึงต่างออกมาใช้เว่ยโป๋เพื่อแถลงไขความจริง
บางคนนำภาพชุดตรวจหาการติดเชื้อโดยตนเองที่มีผลเป็นบวกมาแชร์ ขณะที่บางคนเขียนโพสต์ “ไดอารี่โควิด” และลงรายละเอียดอาการของตนประกอบ และบางคนเล่าว่า สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนของตนมีอาการป่วยโควิด-19 อย่างไรบ้าง ส่วนบางคนก็กล่าวหาทางการว่าโกหกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต่ำกว่าความจริง เป็นต้น
ยกตัวอย่าง ผู้ใช้งานเว่ยโป๋รายหนึ่งที่ใช้ชื่อ YiGeMeiNuZi โพสต์ข้อความประกอบภาพถ่ายหน้าเว็บทางการที่รายงานจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในมณฑลเหอเป่ย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งระบุว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ในเมืองเป่าติ้งเลย ว่า
“เราต่างรู้ว่า ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องเท็จ ดังนั้น ไม่ต้องเอาหัวไปมุดดินที่ไหน รู้สึกเหมือนว่า 80% ของผู้คนในเป่าติ้งติด[โควิด] ไปแล้ว และเรากำลังจะกลับมาเปิดเรียนกันอยู่อีกหรือ”
ผู้ใช้งานเว่ยโป๋อีกรายที่ใช้ชื่อ LoveForeverSunshine โพสต์ข้อความว่า “เราจะมัวนั่งนิ่งและไม่ทำอะไรอยู่อีกหรือ (คือ) ไม่ต้องรายงานอะไร แม้ผลตรวจออกมาเป็นบวกหรือไง”
ฝ่าย Polygraph ของ วีโอเอ (Polygraph.info) ลองตรวจสอบบัญชีผู้ใช้งานของโพสต์ต่าง ๆ ที่ว่านี้ ยกเว้นแต่กรณีของภาพของโพสต์ที่มีการทำให้ชื่อผู้ใช้งานเบลอไว้ แล้วพบว่า ทุกรายมีการโพสต์ประเด็นต่าง ๆ อยู่บนเว่ยโป๋เป็นประจำมาเป็นเวลาหลายเดือนหรือราว 1 ปีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของบัญชีเว่ยโป๋มากมายมักเลือกใช้นามแฝงกัน โดยส่วนใหญ่ จะมีแต่ผู้มีชื่อเสียง เจ้าหน้าที่ทางการ และอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีบัญชีแบบวีไอพีเท่านั้นที่จะใช้ชื่อจริงของตนกัน
ในวันที่ 5 ธันวาคม หลังมีการโพสต์ข้อความโดยประชาชนชาวเมืองเป่าติ้งออกมากันมากมาย แผนกพีอาร์ของเมืองก็ออกมาบอกผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวติ่งตวน (Dingduan News) ซึ่งเป็นเว็บข่าวที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในมณฑลเหอหนาน ว่า “พวกที่(โพสต์)อยู่ในอินเตอร์เน็ต” นั้นเป็น “เรื่องเกินจริงทั้งนั้น” โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวบอกด้วยว่า “หลายเรื่องไม่ใชเรื่องจริงเลย”
ความเห็นดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้ใช้งานเว่ยโป๋โกรธมากขึ้นไปอีก และพากันโพสต์ข้อความกันมากมายต่อเนื่องเกี่ยวกับอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทันที
ผู้ใช้งานเว่ยโป๋ ที่ใช้ชื่อ ChiTongLuoBingDeDingDaoMao โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมว่า
“ลูกชายเริ่มมีไข้สูง 39 องศา(เซลเซียส) เมื่อวานตอนบ่าย ผลตรวจ(หาการติดเชื้อแบบ)แอนติเจนออกมามีขีดเดียว วันนี้ วัดอุณหภูมิได้ 38.5 องศา(เซลเซียส) แต่ผลตรวจแอนติเจนกลับเป็นบวก อะไรจะเกิดมันก็เกิด ถ้ามีคนยังจะบอกว่า การระบาดใหญ่ในเป่าติ้งเป็นเรื่องเกินจริง เราจะแสดง(ความจริงของ)เป่าติ้งกันทางโต่วยิน (Douyin) [ติ๊กต่อก ของจีน] ให้ผู้คนได้รู้สึกถึงอาการไข้ในเป่าติ้งกัน”
การตรวจสอบจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม พบว่า มีผู้ใช้งานเว่ยโป๋ราว 12,000 คน โพสต์ข้อความพร้อม แฮชแท็ก #BaodingOutbreak# ซึ่งทำให้มีการพูดคุยกันถึง 45,000 ครั้งและมีผู้เข้ามาอ่านถึง 290 ล้านคนเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม หู ซีจิ้น อดีตบรรณาธิการใหญ่ หนังสือพิมพ์ Global Times ของรัฐบาลจีน โพสต์ข้อความทางเว่ยโป๋ ที่ระบุว่า ตนได้สัมภาษณ์คน 3 คนจากเป่าติ้ง และทุกคนรายงานว่า ตนเองหรือไม่ก็สมาชิกในครอบครัวเพิ่งมีไข้เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย 2 ใน 3 ระบุว่า ผลตรวจแบบแอนติเจนออกมาเป็นบวก และ หู ระบุด้วยว่า ตนรู้สึกว่า ยังมีคนจำนวนมากในเมืองนี้ที่มีอาการไข้แต่ใช้แค่ชุดตรวจแอนติเจนและไม่ได้ไปทำการตรวจอย่างเป็นทางการ หรือไม่ก็ไม่ได้รายงานผลให้ทางการรับทราบ ดังนั้น ตัวเลขทางการของผู้ติดเชื้อในเมืองเป่าติ้งจึงออกมาต่ำเหลือเพียงเลขหลักเดียว ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐในบางแห่งก็ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้ตัวเลขที่รายงานออกมาจึงแตกต่างกันไปไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง
สื่อร่วมมือตรวจสอบ
สื่อหลายแห่งของจีนอ้างข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่และรายงานกรณีการพบผู้ป่วยโควิด-19 มากมายในเมืองเป่าติ้ง
เช่น หลี่เมิ่ง (นามแฝง) ที่บอกกับสื่อติ่งตวนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมว่า สมาชิก 3 ใน 4 คนของขอบครัวมีอาการป่วยเหมือนติดโควิด และผลตรวจแบบแอนติเจนออกมา “ไม่ปกติ” และว่า “เมื่อรายงานกรณีดังกล่าวไปยังชุมชน ก็ไม่มีการจัดตรวจแบบพีซีอาร์ (P.C.R.) ไม่มีการสั่งล็อกดาวน์ [เรา] แค่ทานยาและอยู่บ้านไป”
ส่วน คังช่วย (นามแฝง) บอกกับสื่อติ่งตวน ว่า ตัวของเขาและเพื่อน ๆ ในเมืองมีอาการป่วยคล้ายติดโควิด-19 และเพื่อนของเขายอมจ่ายเงินไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลก่อนจะได้รับการแจ้งว่า ผลตรวจนั้น “ไม่ปกติ” แต่ไม่ใช่ “ผลบวก”
China Philanthropist ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง รายงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเหลียนฉือ ของเมืองเป่าติ้ง ซึ่งเปิดเผยเพียงชื่อสกุล “สือ” และบอกว่า ตนเองและภรรยามีผลตรวจ “ไม่ปกติ” และมีอาการบางอย่างคล้าย ๆ ติดโควิด และได้รายงานอาการไปให้ทางการในชุมชนแล้ว แต่ได้รับการแจ้งเพียงว่า ให้อยู่บ้านและทานยาแก้หวัดตามปกติเท่านั้น
นิตยสารดังกล่าวยังรายงานด้วยว่า สมาชิกในชุมชนเดียวกับ “สือ” มีอาการไข้มาตั้งแต่ต้นเดือนแต่ไม่มีใครอยู่บ้านรักษาตัวเลย
และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม หนังสือพิมพ์ The Paper ในนครเซี่ยงไฮ้ ได้สัมภาษณ์ประชาชนในเมืองเป่าติ้งที่โพสต์ “ไดอารี่โควิด” ของตนเองทางเว่ยโป๋ โดยรายหนึ่งใช้นามแฝงว่า ฉีฉี และอีกรายขอเปิดเผยแค่นามสกุลว่า “ซ่วน” ต่างเปิดเผยว่า ทุกคนในครอบครัวของตนเคยมีอาการไข้และหลายคนลองตรวจการติดเชื้อโควิด-19 เอง โดยได้ผลออกมาเป็นบวก และทุกคนก็อยู่บ้านไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น
The Paper ระบุว่า เมืองเป่าติ้งเลือกที่จะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดใหม่ 10 อย่างที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติประกาศให้มีการดำเนินการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดจากรัฐบาลปักกิ่งในการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดที่สุดในโลกบางรายการในการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส และเปิดทางให้ประชาชนได้ค่อย ๆ “อยู่ร่วมกับไวรัส”
โดยทั่วไปแล้ว นอกจากการยกเลิกการตรวจหาการติดเชื้อด้วยระบบพีซีอาร์และการใช้รหัสสุขภาพสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ที่ต้องการเข้าพื้นที่สาธารณะต้องแสดงผ่านแอปมือถือที่รัฐบาลจีนบังคับให้ทุกคนใช้เพื่อการติดตามตัวสำหรับสอดส่องดูการระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ทางการกรุงปักกิ่งยังอนุญาตให้ผู้ที่มีผลตรวจการติดเชื้อเป็นบวก ที่มีอาการอ่อน ๆ หรือไม่มีอาการเลย เลือกกักตัวที่บ้านเพื่อดูอาการตนเองแทนได้แล้วด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่เมื่อพิจารณานโยบายที่จีนดำเนินมากว่า 2 ปี ที่บังคับให้ผู้ติดเชื้อต้องถูกนำไปกักตัวรวมกับผู้ป่วยคนอื่นในสถานพื้นที่จำกัดและมีคนอยู่มากมาย โดยหลายคนบ่นร้องทุกข์ออกมาอย่างเนือง ๆ เกี่ยวกับการบังคับตรวจหาการติดเชื้อแบบพีซีอาร์ถี่ ๆ และสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่
ทั้งนี้ เฝิง จื่อเจี้ยน อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน ให้ความเห็นว่า การอนุญาตให้ประชาชนเฝ้าดูอาการที่บ้าน ในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการอ่อน ๆ หรือไม่มีอาการเลย เป็น “เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ในช่วงที่ จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงและรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ขณะที่ ทรัพยากรด้านการแพทย์ของประเทศกำลังร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ตามรายงานของสื่อ The Paper
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ