รัสเซียและพันธมิตรยังคงเดินหน้าใช้ประเด็นที่กลุ่มฮามาสทำการโจมตีรุนแรงเข้าใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมมาใช้เป็นประเด็นเพื่อบ่อนทำลายความพยายามสนับสนุนยูเครนของชาติตะวันตก ด้วยการออกมากล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า อาวุธจากชาติตะวันตกที่ส่งให้ยูเครนถูกยักย้ายถ่ายเทออกนอกประเทศผ่าน “ตลาดมืด”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของอิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียเพิ่งออกมากล่าวหาโดยไม่มีมูลว่า กลุ่มเฮซบอลลาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายชีอะห์ที่ตั้งฐานอยู่ในเลบานอนและกลุ่มฮามาสที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในกาซ่ามีทางเข้าถึงอาวุธที่จัดหามาโดยผิดกฎหมายได้อย่างง่ายดายผ่านยูเครน ทั้งยังอ้างโดยไม่มีหลักฐานด้วยว่า อิหร่านเองได้หยุดการจัดส่งอาวุธทั้งหลายให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้แล้วด้วย
สำนักข่าว TASS ของรัสเซียรายงานโดยอ้างถึงคำพูดของ ฮอสเซน อามีร์-อับโดลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ที่เอ่ยออกมาระหว่างเข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ Doha Forum ครั้งที่ 21 ที่กาตาร์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ว่า “ก็คือ ในอดีตนั้น ... ผมต้องขอพูดแบบเปิดออกกับคุณว่า ... เราเคยจัดส่งความสนับสนุนทุกประเภทให้กับเฮซบอลลาห์ ฮามาสและกลุ่มอิสลามิก จิฮัด โดยมีการพิจารณา [ทั้ง] กฎหมายระหว่างประเทศและสภาพการณ์ของการเผชิญหน้ากับผู้ยึดครอง [อิสราเอล] แล้ว”
อับโดลลาเฮียนยังให้ความเห็นขยายความแผนการกระจายข้อมูลบิดเบือนของเครมลิน ดังนี้:
“ถ้าถามผมว่า พวกเขาเอาอาวุธมาจากไหน ก็คงเป็นตลาดมืดสักแห่งในยูเครนที่พวก [ฮามาสและเฮซบอลลาห์] ไปหามา ง่ายมาก ๆ ไม่ต้องลำบากเลย พวกเขาจะเอาอะไรก็ได้[ที่ต้องการ]ที่ยูเครน”
คำกล่าวอ้างนี้ไร้มูลและน่าจะเป็นความเท็จด้วย
ที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่พิสูจน์ว่า ฮามาสหรือเฮซบอลลาห์ได้รับอาวุธมาจากยูเครนเลย
ในทางกลับกัน อิหร่านต่างหากที่มีประวัติโชกโชนเกี่ยวกับนำส่งความช่วยเหลือทางทหารและทางการเงินให้กับกลุ่มติดอาวุธเหล่านั้น และยังให้การสนับสนุนทางการเมืองและทางทหารเพื่อช่วยรัสเซียดำเนินการทำสงครามในยูเครนด้วย
นับตั้งแต่เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงในกาซ่าปะทุขึ้นในเดือนตุลาคม Institute for the Study of War ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เครมลินนั้นใช้ประโยชน์จาก “การโจมตีของฮามาสเข้าใส่อิสราเอลเพื่อขยายปฏิบัติการกระจายข้อมูลต่าง ๆ ของตนอันมีจุดมุ่งหมายที่จะลดแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกพร้อม ๆ กับทำให้[โลกใส่ใจน้อยลง]ต่อยูเครนด้วย”
และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังว่า สื่อทางการและเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียทั้งหลายก็ออกมากล่าวอ้างว่า การขนส่งอาวุธของสหรัฐฯ ไปให้ยูเครน “โดยไม่มีการควบคุมแต่อย่างใด จะส่งผลให้อาวุธเหล่านั้นตกไปอยู่ในมืออาชญากรโลกใต้ดิน”
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย กล่าวอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า “รถถัง” “เครื่องบินเจ็ท” “ขีปนาวุธ” และอาวุธต่าง ๆ ที่ชาติตะวันตกจัดหาไปช่วยยูเครนปกป้องตนเองจากรัสเซีย จะตกไปอยู่ใน “ตลาดมืด”
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยุโรปและยูเครนดำเนินมาตรการหลายชั้นเอาไว้เพื่อให้แน่ใจว่า การขนส่งอาวุธและการใช้งานต่าง ๆ นั้นมีความโปร่งใสตรวจสอบได้อยู่แล้ว
รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้จัดทำ “ขั้นตอนปฏิบัติอันเป็นรูปธรรม” ของตน “เพื่อใช้ต่อต้านภัยคุกคามจากการที่อาวุธนั้นอาจหลุดไปยังจุดหมายอื่นในยุโรปตะวันออก”
นอกจากนั้น รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายให้ต้องดำเนินการต่าง ๆ ให้มั่นใจว่า สิ่งอุปกรณ์ทางทหารที่จัดส่งให้หุ้นส่วนและพันธมิตรของสหรัฐฯ ถูกนำไปใช้งานดังตั้งใจจริง
ส่วนยูเครน ซึ่งพึ่งพาอาวุธของตะวันตกเพื่อใช้ปกป้องตนเองจากกองกำลังรุกรานของรัสเซีย ก็มีเหตุจูงใจให้ต้องปราบปรามการลักลอบซื้อขายอาวุธผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เสี่ยงสูญเสียแรงหนุนจากชาติตะวันตกซึ่งกำลังอยู่ในภาวะอ่อนล้าอยู่แล้ว
โอเลกซานดรา อุสติโนวา อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกรัฐสภายูเครน บอกกับสื่อ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ยูเครน “ยอมจะเสียสละชีวิตผู้คนมากกว่า” เพื่อให้มั่นใจว่า อาวุธที่ชาติตะวันตกส่งมาให้นั้นไม่ถูกขโมยหรือสูญหายไป
ในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม อิลวา โจแฮนสัน กรรมาธิการด้านกิจการภายในของสหภาพยุโรป กล่าวว่า “เรายังไม่ได้เห็นการลักลอบขนอาวุธออกจากยูเครนอย่างแข็งขันเลย”
ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ก็มีส่วนช่วยแพร่กระจายข่าวปลอมที่อ้างว่า ยูเครนช่วยติดอาวุธให้ฮามาส ด้วยเช่นกัน เช่น การแชร์คลิปวิดีโอปลอมที่บอกว่าเป็นของสื่อบีบีซี และอ้างว่า ยูเครนเป็นผู้จัดส่งอาวุธให้กับฮามาส รวมทั้งบทความปลอมจากหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ที่อ้างว่า เสบียงอาวุธจากยูเครนไปให้ฮามาสนั้นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว เป็นต้น
ในปี 2022 หรือก่อนที่จะเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาสขึ้น ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางส่วนได้เริ่มเผยแพร่คำกล่าวอ้างที่เป็นเท็จว่า ยูเครนได้ขายระบบยิงขีปนาวุธต่อต้านรถถัง จาเวลิน ที่สหรัฐฯ ส่งมอบ ให้กับกลุ่มเฮซบอลลาห์และฮามาสแล้ว
และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฝ่ายโพลีกราฟได้ เก็บบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเท็จที่สื่อหลายแห่งเผยแพร่ออกมาที่ว่า ขีปนาวุธจาเวลินลูกหนึ่งที่ควรจะอยู่ที่ยูเครนกลับตกไปอยู่ในมือของแก๊งค้ายาเม็กซิกันด้วย
หน่วยงานด้านข่าวกรองชั้นนำแห่งหนึ่งของยูเครนกล่าวหารัสเซียว่า เป็นผู้เติมเชื้อเข้าไปในกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนต่าง ๆ เพื่อทำให้ชาติตะวันตกระงับการส่งอาวุธให้ยูเครน
ยูเครนยังกล่าวหารัสเซียว่า เป็นผู้นำอาวุธที่กองทัพมอสโกยึดได้จากยูเครนไปส่งให้ฮามาส แต่ก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์คำกล่าวหานี้
แต่การสนับสนุนบรรดากลุ่มติดอาวุธของอิหร่านต่างหากที่มีการเก็บบันทึกหลักฐานไว้อย่างดี
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่อิหร่านสนับสนุนเฮซบอลลาห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนซึ่งเกี่ยวโยงกับพรรคการเมืองกลุ่มมุสลิมชีอะห์ซึ่งมีฝ่ายทหารที่แข็งแกร่งและทรงอำนาจกว่ากองทัพเลบานอนด้วย
เฮซบอลลาห์ยังมีบทบาทสำคัญในภาวะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่ดำเนินมานานหลายทศวรรษ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-เลบานอนด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2020 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประเมินว่า อิหร่านได้จัดส่งความช่วยเหลือด้านการเงินให้กับเฮซบอลลาห์เป็นมูลค่าราว 700 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า คลังจรวดที่มีจำนวนกว่าแสนลูกของเฮซบอลลาห์นั้นได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า นับ ตั้งแต่กลุ่มติดอาวุธนี้เริ่มทำสงครามกับอิสราเอลในปี 2006
อิหร่านยังจัดส่งอาวุธ เงินและการฝึกอบรมให้กลุ่มฮามาสด้วย โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น หลังฮามาสชนะการเลือกตั้งสภาปาเลสไตน์ในปี 2006 และใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการควบคุมฉนวนกาซ่าในปี 2007
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีข้อบ่งชี้เลยว่า อิหร่านเคยหยุดสนับสนุนฮามาส
ในเดือนพฤศจิกายน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อ 21 บุคคลและองค์กรที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับ “โครงการด้านการเงินที่ผิดกฎหมายเพื่อให้การสนับสนุนการขยายวงความขัดแย้งและการแพร่กระจายกระแสความหวาดกลัวในภูมิภาค” โดยกิจกรรมผิดกฎหมายที่ว่านั้นรวมความถึงการสนับสนุน “กลุ่มตัวแทนต่าง ๆ หลายกลุ่มในภูมิภาค” ซึ่งหมายถึงฮามาสและเฮซบอลลาห์ด้วย
สำหรับเหตุการณ์โจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม บทบาทของอิหร่านนั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าใด
แต่ที่แน่ ๆ อิหร่านนั้นให้ความช่วยเหลือรัสเซียด้วยการจัดส่งอากาศยานไร้คนขับและการสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อการทำสงครามในยูเครนมาโดยตลอด
สหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการลงโทษชาวอิหร่านที่มีส่วนในการจัดส่งโดรนให้รัสเซียแล้ว โดยระบุว่า อากาศยานไร้คนขับที่ว่านั้นถูกงานเพื่อการโจมตีพลเรือน พร้อมกล่าวด้วยว่า อิหร่านละเมิดมติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ “ซึ่งสั่งห้ามอิหร่านไม่ให้จัดส่งอากาศยานไร้คนขับเพื่องานด้านการทหารให้กับรัสเซีย โดยไม่มีการข้ออนุญาตเป็นกรณี ๆ และล่วงหน้าจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น”
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ