ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ฯ พบ อารยธรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นบนทางช้างเผือก-จระเข้เคยเดินด้วยสองเท้า


Mars, left, and the Milky Way are visible in the clear night sky as photographed near Salgotarjan, some 110 kms northeast of Budapest, Hungary, Aug. 03, 2018.
Mars, left, and the Milky Way are visible in the clear night sky as photographed near Salgotarjan, some 110 kms northeast of Budapest, Hungary, Aug. 03, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:02 0:00

การศึกษาค้นคว้าล่าสุดโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการตีพิมพ์ออกมาในสัปดาห์นี้ ในวารสาร Astrophysical Journal ระบุว่า น่าจะมีอารยธรรมที่เจริญแล้วของสิ่งมีชีวิตอื่นในกาแล็กซีของเราอยู่มากถึงราว 36 กลุ่ม

ผลงานวิจัยนี้สรุปความจากการใช้การคำนวณที่ชี้ว่า กว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรานั้นจะถือกำเนิดขึ้นมาได้ต้องใช้เวลาถึงเกือบ 5,000 ล้านปีนับตั้งแต่กลุ่มแก๊สและฝุ่นผงในอวกาศจะควบแน่นเป็นก้อนจนกลายมาเป็นดาวโลก แล้วนำจุดนี้มาใช้ในการเปรียบเทียบค้นคว้าเกี่ยวกับความน่าจะเป็นของการมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ คอนเซลีซ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม และเป็นหัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า การคำนวณหาตัวเลขกลุ่มอารยธรรมที่มีความเจริญนอกโลกนั้น ดูกันที่ประเด็นวิวัฒนาการในระดับจักรวาล ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ข้อจำกัดทางชีวดาราศาสตร์ของโคเปอร์นิคัส (Astrobiological Copernican Limit)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทอม เวสต์บีย์ ผู้ที่รับผิดชอบการทำวิจัยและเขียนต้นฉบับบทความวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการในอดีตที่ใช้ในการประเมินหาจำนวนอารยธรรมสิ่งมีชีวิตที่เจริญแล้วเป็นการเดาตัวเลขค่าต่างๆ แต่การศึกษาชิ้นล่าสุดนี้เป็นการใช้ข้อมูลช่วยคำนวณให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เวสต์บีย์ เสริมว่า การวิจัยครั้งนี้ใช้สมมติฐานที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่มีความก้าวหน้าแล้ว ซึ่งหมายถึงอารยธรรมที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสูงพอที่จะทำการติดต่อสื่อสารได้ ควรใช้เวลาไม่เกิน 5,000 ล้านปีในการรวมกลุ่มก้อน ในรูปแบบของดาวเคราะห์และดวงดาวในกาแล็กซี ที่กระจายอยู่ทั่วทางช้างเผือก

แต่เมื่อมีการพูดถึงการติดต่อสื่อสารกับอารยธรรมเหล่านี้ นักวิจัยกล่าวว่า คงเป็นเรื่องยาก เพราะระยะทางระหว่างแต่ละกลุ่มน่าจะห่างกันถึง 17,000 ปีแสง และส่วนคำตอบสำหรับคำถามว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มเดียวในกาแล๊กซีนี้หรือไม่ คงต้องดูกันว่า อารยธรรมแต่ละแห่งนั้นอยู่รอดกันได้นานเพียงใดด้วย

นอกจากการค้นพบใหม่ๆ นอกโลกแล้ว นักวิจัยอีกกลุ่มยังค้นพบเรื่องใหม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลกในยุคดึกดำบรรพ์ด้วย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ที่เพิ่งออกมาในวันพฤหัสบดีนี้

A handout photo from the University of Colorado Denver on June 12, 2020, shows an artist's impression of the crocodile's ancestor after fossilized footprints of the crocodile were unearthed by researchers in South Korea.
A handout photo from the University of Colorado Denver on June 12, 2020, shows an artist's impression of the crocodile's ancestor after fossilized footprints of the crocodile were unearthed by researchers in South Korea.

ในรายงานชิ้นนี้ นักวิจัยพบว่า สัตว์โบราณที่เป็นบรรพบุรุษของจระเข้ เคยเดินด้วยขาหลัง 2 ข้าง ไม่ใช่คลาน 4 ขาเหมือนลูกหลานในยุคปัจจุบัน โดยได้รับการยืนยันจากรอยเท้าในซากฟอสซิลที่ค้นพบในประเทศเกาหลีใต้ ที่ก่อนหน้านี้เชื่อว่าเป็นรอยเท้าของ เทอร์โรซอร์ หรือไดโนเสาร์มีปีก

แต่การวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นซากรอยเท้ายาว 18-24 นิ้ว จากยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือเมื่อกว่า 100 ล้านปีที่แล้ว ทำให้นักวิจัยสรุปได้ว่า สัตว์เจ้าของรอยเท้านี้เป็นตระกูลเดียวกับจระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และมีความยาวลำตัวเกือบ 3 เมตร ทั้งยังยืนเมื่ออยู่บนบกด้วยการใช้ขาหลังเพียงอย่างเดียว โดยดูจากร่องรอยการเดินที่แสดงให้เห็นทั้งส้นเท้าและกรงเล็บ ไม่ใช่เพียงแค่ใช้ยืนเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีปีกอย่างที่เคยเชื่อกันมาก่อนหน้านี้

การค้นพบความลับของสิ่งมีชีวิตทั้งในและนอกโลก นอกจากจะยืนยันทฤษฎีของการวิวัฒนาการต่างๆ มากขึ้นแล้ว ยังปูทางไปสู่การศึกษาวิจัยใหม่ๆ ที่อาจช่วยไขปริศนาที่มนุษย์ยังรอหาคำตอบ และได้พบกับเรื่องมหัศจรรย์อื่นๆ อีกมากมาย

XS
SM
MD
LG