วีโอเอภาคภาษาพม่า สัมภาษณ์พิเศษ จอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น หลังตกเป็นเป้าแผนลอบทำร้ายโดยมีนักค้าอาวุธไทยเป็นผู้จ้างวาน เผย ยังคงผลักดันให้นานาชาติยอมรับหน้าที่ของตนในฐานะทูตยูเอ็นต่อไปแม้จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และแม้กระทรวงต่างประเทศเมียนมาจะปลดเขาออกจากคณะผู้แทนในยูเอ็นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้วก็ตาม
“พูดได้ยากว่า (กลุ่มผู้วางแผนรอบทำร้ายเขา) คิดอะไรอยู่” ทูตจอ โม ตุน กล่าวกับวีโอเอ “แถลงการณ์จากกระทรวงยุติธรรม (สหรัฐฯ) ระบุว่า นักค้าอาวุธรายหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นผู้จ้างวานพวกเขา ผมไม่ทราบ (รายละเอียด) ไปมากกว่านี้”
ทูตเมียนมาผู้นี้ระบุว่า เขาทราบข้อมูลเกี่ยวกับแผนมีผู้ถูกจ้างวานให้ทำร้ายเขาเมื่อวันอังคารที่แล้ว โดยเขารีบรายงานไปยังคณะผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นในมหานครนิวยอร์ก และหน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ ทันทีที่ทราบเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ คุ้มครองความปลอดภัยแก่เขาในขณะที่เอฟบีไอดำเนินการตามที่จำเป็น
เขายังกล่าวด้วยว่า หนึ่งในผู้ที่ถูกจ้างวานมาทำร้ายเขา เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยช่วงกลางวันให้คณะผู้แทนพิเศษเมียนมาในยูเอ็น โดยพวกเขาผลัดเปลี่ยนเวรกัน โดยหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครนี้มีเวรรักษาความปลอดภัยให้เขา และเขาไม่เคยเจอกับผู้ถูกจ้างวานรายนี้มาก่อน
ทั้งนี้ ชุมชนชาวเมียนมาในมหานครนิวยอร์กจัดอาสาสมัครหมุนเวียนความปลอดภัยให้ทูตจอ โม ตุน ตลอด24 ชั่วโมงมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม หลังมีข่าวลือว่าทูตทหารเมียนมาและทูตเมียนมาในกรุงวอชิงตันพยายามโน้มน้าวให้เขาลาออกจากคณะผู้แทนพิเศษประจำยูเอ็น แม้ทูตเมียนมาผู้นี้จะระบุว่า ไม่มีผู้ใดข่มขู่เขาทางกายเพื่อให้เขาออกจากตำแหน่งนี้ก็ตาม
เมื่อวันเสาร์ สำนักข่าว The Associated Press หรือเอพี รายงานว่า เปียว เฮียน ทุด และยี เฮียน ซอว์ ชาวเมียนมาสองราย ถูกทางการสหรัฐฯ จับกุมตัวหลังวางแผนทำร้ายหรือสังหารทูตผู้นี้ที่ย่านที่พักของเขาในเขตเวสต์เชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก โดยสำนักข่าวเอพีอ้างอิงเอกสารของศาลในเขตไวท์เพลนส์ รัฐนิวยอร์ก ที่ระบุว่า ผู้จ้างวานบุคคลทั้งสองเป็นนักค้าอาวุธไทยที่ขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา
ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ลินดา โธมัส-กรีนฟีลด์ ประณามแผนลอบทำร้ายดังกล่าว โดยระบุว่า การคุกคามทูตเมียนมาประจำยูเอ็น คือหนึ่งในรูปแบบที่ผู้นำระบอบอำนาจนิยมทั่วโลกมักนำมาใช้เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ว่า กระทรวงต่างประเทศเมียนมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับแผนลอบทำร้าย โดยทางกระทรวงออกแถลงการณ์ว่า "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นคดีภายในประเทศของสหรัฐฯ และการตัดสินก็ต้องกระทำในสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเมียนมาเลย" รวมถึงปัดคำประณามของทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทูตจอ โม ตุน เรียกร้องให้นานาประเทศดำเนินการ "อย่างเเข็งขันที่สุด" ในการช่วยนำประชาธิปไตยกลับมาสู่เมียนมา
เเม้ว่ากองทัพเมียนมาพยายามปลดเขาออกจากตำแหน่งทูตประจำสหประชาชาติ และเขาเผชิญหมายจับในข้อหาทรยศต่อชาติ เนื่องจากแสดงการสนับสนุนรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจและรัฐเอกภาพแห่งชาติหรือรัฐบาลเงาของเมียนมา แต่สมัชชาใหญ่ของยูเอ็นซึ่งรับผิดชอบในการรับรองตำแหน่งทูต ยังไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลภายใต้กองทัพเมียนมา
ในเดือนหน้านี้ ทูตจอ โม ตุน จะเผชิญความท้าทายในการรักษาเก้าอี้ผู้แทนถาวรในยูเอ็น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการฝ่ายแต่งตั้งของสมัชชาใหญ่แห่งยูเอ็นจะรับรองตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งทูตเมียนมาผู้นี้ยืนยันว่า เป็นตำแหน่งที่สำคัญเนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ “ช่วยพูดแทนชาวเมียนมา” และชาวเมียนมาจะได้ประโยชน์หากเขายังคงดำรงนี้ต่อไป
“เราทุกคนเชื่อว่า เราจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องผลักดันให้นานาชาติยอมรับคณะผู้แทนของเราต่อไป” เขากล่าวทิ้งท้ายกับวีโอเอ
(ที่มา: วีโอเอภาคภาษาเมียนมา, The Associated Press และ Reuters)