เดิมทีนั้น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมทั้งจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ ร่วมลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งมีชื่อย่อว่า JCPOA เมื่อปี 2558 ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านสามารถใช้โครงการดังกล่าวเพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์
และข้อแลกเปลี่ยนสำคัญที่อิหร่านได้รับ คือการผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว อิหร่านได้ละเมิดข้อตกลง JCPOA นี้โดยการค่อย ๆ เพิ่มการเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู และขณะเดียวกันก็สามารถใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ได้
แต่หลังจากที่พลตรีสุไลมานีถูกสหรัฐฯ สังหาร อิหร่านก็ประกาศว่าตนจะไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดใด ๆ ของข้อตกลงนี้อีกต่อไป ถึงแม้จะมีการเปิดช่องทางไว้ว่าอิหร่านพร้อมจะกลับไปปฏิบัติตามข้อตกลงและลดการเสริมคุณภาพแร่ยูเรเนียม หากได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจตามที่ระบุไว้ในสัญญา และสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษต่ออิหร่านด้วย
คำประกาศของกลุ่มประเทศ E3 ในยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในวันอังคารเรื่องการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อให้มีการเจรจาขบแก้ข้อพิพาทกับอิหร่านในเรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามกดดันให้อิหร่านยอมปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีอยู่เดิม และดูจะเป็นความหวังเพื่อรักษาข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับนี้เอาไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากการใช้กลไกดังกล่าวไม่เป็นผลสำเร็จ ประเทศผู้ร่วมลงนามในยุโรปทั้งสามก็สามารถเปลี่ยนท่าทีและหันมาใช้มาตรการลงโทษต่ออิหร่านเหมือนที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ในขณะนี้ได้
แต่รัฐบาลกรุงเตหะรานได้ประกาศว่า อิหร่านจะเป็นผู้กำหนดเกี่ยวกับระดับการปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวด้วยตัวเอง โดยขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นทางเทคนิค
และเมื่อวันจันทร์ นายจาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านได้ทวีตว่า อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยอมก้มหัวตามคำสั่งของสหรัฐฯ โดยสิ่งที่ประเทศทั้งสามควรทำมากกว่า คือรวบรวมความกล้าหาญเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของตน
ขณะที่ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศ E3 ในยุโรปต้องการให้อิหร่านกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลง JCPOA ที่ได้เจรจาไว้ และใช้มาตรการทางการทูตเพื่อลดความขัดแย้งกับความตึงเครียดในภูมิภาคลงก็ตาม แต่ท่าทีของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีทรัมป์นั้นกลับต้องการทำข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งจะมีข้อกำหนดเพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างถาวร และยับยั้งอิหร่านไม่ให้สามารถพัฒนาจรวดขีปนาวุธได้
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ผู้ติดตามเรื่องนี้ก็ให้ความเห็นว่าประเทศในยุโรปที่ร่วมลงนามในข้อตกลง JCPOA กับอิหร่าน กำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการหันมาใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการเจรจาข้อขัดแย้งนี้ก็เหมือนกับการเตรียมพร้อมที่จะยอมรับจุดจบของสัญญานั่นเอง
สัญญาณหนึ่งของเรื่องนี้ดูจะเห็นได้จากท่าทีของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ที่กล่าวว่า อาจจะเป็นเรื่องดีกว่าถ้าจะมีข้อตกลงฉบับใหม่ทดแทนข้อตกลงฉบับเดิมซึ่งมีข้อบกพร่อง
นอกจากนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีของอังกฤษยังแสดงความชื่นชมกับความสามารถในการเจรจาต่อรองของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งยังสนับสนุนให้นำข้อตกลงที่จะเจรจาโดยประธานาธิบดีทรัมป์มาใช้กับอิหร่านแทนด้วย