คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรป หรือ อียู มีมติเมื่อวันจันทร์ ในการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น คอตตอนบัดส์และหลอดพลาสติก พร้อมตั้งเป้าให้กลุ่มประเทศในอียูลดปริมาณพลาสติกกลุ่มนี้ให้ได้ร้อยละ 90 ภายใน 7 ปีข้างหน้า
มาตรการใหม่นี้ จะยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันที่สามารถใช้ซ้ำได้ หรือทำจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแทน
เป้าหมายจากนี้ คือการให้ประเทศสมาชิกอียู ยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2568 รวมทั้งให้บริษัทผู้ผลิตพลาสติกลงทุนกับการบริหารจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ
ด้านนายฟรานส์ ทิมเมอร์แมนส์ รองคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป บอกว่า ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ และสหภาพยุโรปต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหานี้ เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้จะส่งผลต่ออากาศ ดิน แหล่งน้ำ และที่อาหารของเราในที่สุด
ทั้งนี้ มาตรการของคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาและสมาชิกรัฐสภาของสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบก่อนการเลือกตั้งของสหภาพยุโรป ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า
การสะสมของพลาสติกในแหล่งน้ำทั่วโลกกลายเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบจากขยะพลาสติกที่มีต่อห่วงโซ่อาหาร ตามรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Scientific Reports ประเมินว่า มีขยะพลาสติกราว 79,000 ตัน หรือประมาณ 1 ล้านล้าน กับอีก 8 แสนล้านชิ้น ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีทั้งตาข่ายดักปลา กล่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก และเชือกพลาสติก