โรคระบาดเป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นกรณีสุดวิสัย และยากที่จะห้ามไม่ให้เกิดขึ้น แต่ล่าสุด มีรายงานระบุว่า โรคระบาดโดยเฉพาะที่เกิดจากการข้ามสายพันธุ์ จากสัตว์สู่มนุษย์ เป็นสิ่งที่สามารถป้องกัน และลดโอกาสของการเกิดขึ้นได้
ระบบนิเวศวิทยาที่ล้มเหลวและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ผลักดันให้มนุษยชาติเดินทางเข้าสู่ “ยุคแห่งโรคระบาด” ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยาหรือ IPBES ซึ่งรายงานนี้ยังได้แนะนำถึงการจัดการโรคระบาดในเชิงป้องกัน มากกว่ารอให้เกิดการแพร่ระบาดแล้วถึงควบคุม รายงานยังระบุว่า “หากเราไม่ใช้กลยุทธ์เชิงป้องกัน โรคระบาดจะเกิดบ่อยขึ้น ลุกลามไวขึ้น และที่สำคัญจะทำให้คนล้มตายมากกว่านี้”
เอกสารฉบับดังกล่าวยังได้วิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยชี้ว่าหากเราใช้งบประมาณมูลค่าราว 5 หมื่นล้านดอลล่าร์ต่อปี ในการป้องกันโรคระบาด จะช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจของโลกได้มากกว่าปล่อยให้เกิดการแพร่เชื้อ เพราะหลังจากเกิดโรคระบาดใหญ่แล้วมูลค่าความเสียหายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านดอลล่าร์ต่อปี ไม่นับรวมถึงความเจ็บปวดที่มนุษย์จะต้องเผชิญซึ่งตีเป็นมูลค่าไม่ได้
ในภาพรวมความเสียหายเชิงเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลขในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าอยู่ที่ราว 8 ล้านล้านดอลล่าร์และยังคงไม่ทราบจุดสิ้นสุด
เชื้อโควิด-19 เป็นหนึ่งโรคระบาดล่าสุดที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แต่ก็มีโรคระบาดอื่นๆ ที่ประชากรโลกต้องเผชิญก่อนหน้านี้ เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ซาร์ อีโบล่า ซิก้าร์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 รวมถึงไข้หวัดหมู เป็นต้น โดยรายชื่อของโรคระบาดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากเชื้อที่ “ข้ามฝั่ง” จากสัตว์มาสู่มนุษย์ และในภาพรวมเชื้อโรคที่อุบัติขึ้นราว 3 ใน 4 มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ นอกจากนั้นรายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่ายังมีเชื้อโรคนับแสนนับล้านชนิด ที่มีโอกาสแพร่เชื้อข้ามฝั่งมายังมนุษย์ อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความผิดของสัตว์ เพราะตามรายงานชี้ว่าการข้ามฝั่งของเชื้อโรคล้วนเกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์
ยกตัวอย่างเช่น เชื้อโควิด-19 ตามรายงานระบุว่า น่าที่จะมีแหล่งกำเนิดมาจากค้างคาวในประเทศจีน บริเวณที่คนเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ป่า โดยคาดว่าการที่เชื้อกระจายมาสู่คนนั้น เป็นเพราะเหล่าพ่อค้าแม่ค้านำสัตว์ป่ามาจำหน่ายเพื่อเป็นอาหารหรือยารักษาในตลาดค้าสัตว์ป่า รายงาน IPBES ชี้ว่าการรุกล้ำเข้าไปในบริเวณป่าของมนุษย์ คือสาเหตุ 1 ใน 3 ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ 2503 นอกจากนี้ธุรกิจค้าสัตว์ป่าที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านดอลล่าร์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เชื้อแพร่กระจายและเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ปีเต้อร์ ดาซเซค ประธานองค์กร EcoHealth Alliance ผู้เขียนรายงานดังกล่าวบอกว่า นี่ไม่ใช่ข้อมูลที่จะชี้ว่าโลกเรากำลังจะเดินไปสู่จุดสิ้นสุด แต่เขากล่าวว่าเป็นการกระตุ้นให้เริ่มมีการเคลื่อนไหว โดย ดาซเซค ระบุว่าเราควรศึกษาและทำความรู้จักกับเชื้อโรคก่อนที่มันจะแพร่ระบาดมาสู่คน เขายังบอกด้วยว่าการปล่อยให้เกิดโรคระบาดแล้วนั่งรอวัคซีน ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะเราควรที่จะ “เปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป” เพื่อป้องกันการระบาดใหญ่ล่วงหน้าในอนาคต
ประเด็นเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ก็ถูกหยิบยกมากล่าวถึงเช่นกัน โดยถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคระบาดใหญ่ รายงานดังกล่าวชี้ว่า การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารมีความเกี่ยวพันกับการบุกรุกทำลายป่า อีกทั้งเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มักจะใช้พื้นที่คับแคบเพื่อเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก จนอาจก่อให้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคข้ามสายพันธุ์ อย่างไรก็ตามปีเต้อร์ ดาซเซค กล่าวว่าเรายังสามารถทานเนื้อสัตว์ต่อไปได้ แต่ในภาพรวมควรมีการปรับปรุงแก้ไข อย่างเช่น การขึ้นภาษีเนื้อสัตว์ เพื่อนำรายได้บางส่วนมาใช้ในเรื่องการรับมือโรคระบาด รวมทั้งผู้บริโภคควรเรียกร้องให้ธุรกิจปศุสัตว์ลดการทำลายพื้นที่ป่าไม้ และที่สำคัญการซื้อขายสัตว์ป่าควรได้รับการควบคุม
นอกจากนั้นการพิจารณาภาพรวมระหว่างสุขภาพของสัตว์ สุขภาพของมนุษย์ และสภาพแวดล้อมทั้งมวล เป็นสิ่งที่เราควรมองให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะทุกอย่างประสานสัมพันธ์กันหมด อย่างไรก็ดี ดาซเซค ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ ยอมรับว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการพูด แต่อาจยากที่จะลงมือทำ