ในอีกราวสามสัปดาห์ ผู้นำประเทศต่างๆ จะร่วมประชุม COP26 ที่สก๊อตแลนด์เพื่อหารือเรื่องเป้าหมายการเลิกใช้พลังงานถ่านหินและหันไปเร่งใช้พลังงานสะอาดแทน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาพลังงานขาดแคลนที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าเส้นทางสู่การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอาจไม่ง่ายและเร็วอย่างที่คาดไว้ เพราะการที่จีนสั่งให้โรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินเร่งผลิตพลังงานเพื่อแก้ปัญหาไฟดับและสหภาพยุโรปก็กำลังมีปัญหาการต่อต้านเป้าหมายเรื่องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งในสหรัฐฯ เองประธานาธิบดีไบเดนได้ขอให้กลุ่มประเทศ OPEC+ เร่งผลิตน้ำมันเพิ่ม
เรื่องเหล่านี้อาจเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าวิกฤติด้านพลังงานกำลังเข้ามาขวางทางความพยายามเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศของโลกได้
คุณคริสติน เชียร์เลอร์ ผู้อำนวยการโครงการถ่านหินของหน่วยงานชื่อ Global Energy Monitor ซึ่งติดตามการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกชี้ว่าสำหรับในประเทศจีนเองความกังวลเรื่องปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนช่วยสนับสนุนการโต้แย้งของกลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหินที่ว่าความพยายามเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นเร็วเกินไป
และการที่เศรษฐกิจของโลกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดและความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นผลให้รัฐบาลหลายประเทศต้องหันกลับไปพึ่งพาวิธีการผลิตตามที่มีอยู่เดิมเพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมในขณะนี้ยังมีไม่เพียงพอ
นอกจากนั้นแหล่งพลังงานธรรมชาติก็มีความไม่แน่นอน เป็นต้นว่าในอังกฤษและบนทวีปยุโรปในช่วงปีที่ผ่านมานี้แรงลมมีกำลังอ่อนกว่าที่เคยเป็นมาทำให้ใช้ผลิตพลังงานได้ต่ำกว่าเป้า ส่วนในประเทศจีนเองฝนที่ตกน้อยกว่าเกณฑ์ในบางพื้นที่ก็ทำให้เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่ต้องการ เช่นกัน
แต่นอกจากปัญหาการผลิตพลังงานโดยอาศัยธรรมชาติซึ่งอยู่เหนือความควบคุมของมนุษย์แล้ว ปัญหาการเมืองก็ส่งผลต่อวิกฤติด้านพลังงานอีกด้านหนึ่งด้วย ตัวอย่างเช่น รัสเซียถูกระบุว่าชะลอการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปเพื่อกดดันกระบวนการตัดสินใจอนุมัติการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ Nod Steam 2 ใต้ทะเลบอลติค ส่วนจีนก็สั่งกักถ่านหินซึ่งเดินทางมาจากออสเตรเลียไว้ที่ท่าเรือเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสอบหาต้นตอและที่มาของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน เป็นต้น
แรงกดดันทางเศรษฐกิจก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้หลายประเทศหันกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงาน อย่างเช่นจีนซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานว่าประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงประกาศว่าจะเลิกสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศนั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าดับในหลายจังหวัดและความต้องการสินค้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงใกล้ปลายปี ปักกิ่งก็กลับไปสั่งให้เหมืองถ่านหินผลิตเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านเมทริกซ์ตันเป็นต้น
และการกลับไปพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก็เกิดขึ้นทั้งในอังกฤษและในบางประเทศของยุโรปด้วย ส่วนในสหรัฐฯ นั้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกำลังสูงขึ้นท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อซึ่งก็โยงไปถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานด้วย และเมื่อเดือนสิงหาคม ประธานาธิบดีไบเดนได้ขอให้กลุ่มประเทศ OPEC+ เร่งผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงซึ่งก็ดูจะเป็นท่าทีที่สวนทางกับเป้าหมายเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของผู้นำสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้
อาจจะเห็นได้ว่าแรงกดดันเฉพาะหน้าจากปัญหาขาดแคลนพลังงานและปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้หลายประเทศต้องหันกลับไปพึ่งพาการผลิตพลังงานแบบเดิม และตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA นั้น การที่โลกจะบรรลุภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจะไม่มากกว่าการกำจัดออกจากสภาพบรรยากาศภายในปีค.ศ. 2050 นั้นโลกจะต้องยุติการขยายการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสิ้นเชิง
ที่มา: CNN, Washington Post