อภิมหาเศรษฐี อิลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัท เทสลา (Tesla) เปิดตัวต้นแบบหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ ในระหว่างงาน ‘AI Day’ ของบริษัทที่จัดขึ้นในวันศุกร์
หุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า Optimus ซึ่งเป็นนวัตกรรมต้นแบบของเทสลา เป็นผลงานที่ มัสก์ ประกาศออกมาในงานเดียวกันนี้เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว แต่ต้องเลื่อนมาปีนี้เพื่อให้เวลากับทีมงานตรวจสอบให้มั่นใจว่า หุ่นต้นแบบนี้จะทำงานได้จริงและเป็นไปตามแผนที่จะเริ่มการผลิตในปีหน้า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด
สำนักข่าว เอพี รายงานว่า การเปิดตัวหุ่นยนต์ต้นแบบนี้แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวแบบช้า ๆ และงุ่มง่าม ขณะที่ตัวหุ่นก้าวขึ้นบนเวที ก่อนจะโบกมือให้คนดูที่ด้านล่างที่ส่งเสียงเชียร์ลั่น
อิลอน มัสก์ บอกกับผู้ร่วมงาน ซึ่ง เอพี ติงว่า หลายคนน่าจะเป็นผู้ที่ เทสลา จ้างมา ว่า หุ่นตัวนี้สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เห็นกันบนเวที และชี้ว่า หุ่นตัวนี้ยังขาด "สมอง" และไม่มีสติปัญญาที่จะนำพาตัวเองไปทำกิจกรรมใด ๆ ในเวลานี้
อย่างไรก็ดี ผู้รอติดตามงานนี้ไม่ได้รู้สึกประทับใจกับการเปิดตัวหุ่นใหม่ของ มัสก์ สักเท่าใด อย่างเช่น ฟิลิป เพียกนิวสกี ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ ทวีตข้อความว่า "ความน่าอับอายใหญ่ครั้งใหม่" และ "เรื่องหลอกลวงอย่างสุด ๆ" และ ซินเธีย เหยิง ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ ที่ทวีตข้อความว่า "ไม่มีอะไรล้ำสมัยแม้แต่น้อย" และ "ไปจ้างพวกที่จบ ดร. และไปร่วมงานประชุมด้านหุ่นยนต์ดูนะ @เทสลา"
หลายคนคงคุ้นชื่อ Optimus มาก่อน เพราะนี่เป็นชื่อของ ผู้นำทรงพลังและคุณธรรมของกองทัพ Autobots ในภาพยนตร์ Transformer โดยเทสลาตั้งความหวังไว้ว่า หุ่น Optimus ของตนนี้จะสามารถรับหน้าทำงานอันแสนน่าเบื่อหรือแสนอันตรายต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนในโรงงานเทสลา หรือใช้ประแจติดสลักเข้ากับตัวรถ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ เทสลา สร้างกระแสตื่นตัวให้กับผู้ที่ติดตามตนด้วยการนำเสนอรูปหุ่นที่ทำจากโลหะและทำมือเป็นรูปหัวใจ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ
แต่ เฮนิ เบน อามอร์ ศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์จาก Arizona State University ให้ความเห็นวา การสร้างหุ่นที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์และมีมือที่หยิบจับสิ่งของซึ่งมีรูปร่างต่าง ๆ ได้เหมือนมือคนนั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด
โจนาธาน เฮิร์ส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัทหุ่นยนต์ Agility Robotics บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า “มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คนเราสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่วแต่กลับเป็นเรื่องยากมากสำหรับหุ่นยนต์ และประเด็นนี้ก็ไม่สำคัญว่า หุ่นยนต์นั้นจะมีแขนหรือไม่ หรือมีรูปร่างลักษณะเหมือนคนหรือไม่ด้วย”
แต่ มัสก์ เชื่อมั่นว่า ในอนาคต คนเราจะสามารถนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ในบ้านเรือน ตั้งแต่เตรียมอาหารเย็น ไปจนถึงการตัดหญ้า หรือคอยดูแลคนชรา เป็นเพื่อนให้คนเรา หรือกระทั่งเป็น ‘คู่นอน’ ก็ยังได้
- ที่มา: รอยเตอร์/เอพี