ข้อมูลจากสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราการย้ายถิ่นของคนที่อายุมากกว่า 55 ปีลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จากอัตราที่สูงถึง 6% ในปีค.ศ. 1996 เป็น 4.3% ในระหว่างปีค.ศ. 2017 ถึงปีค.ศ. 2018
อัตราการย้ายถิ่นฐานของคนยุค Baby Boomers หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1946 ถึง ค.ศ. 1964 ได้ดีดตัวขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2007-2009 แต่อัตราดังกล่าวยังคงต่ำกว่าตอนก่อนเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย
William Frey นักประชากรศาสตร์แห่งสถาบัน Brookings Institution กล่าวว่า แนวคิดของคนยุคนี้ก็คือ หากเศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร พวกเขาก็อาจทำงานต่อไปอีกสักหน่อยก่อนจะปลดเกษียณ และสิ่งที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจก็คือเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเกษียณอายุ
และที่สำคัญกว่านั้น ในแง่ของการย้ายถิ่นฐาน จะต้องตรึกตรองดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ในการที่จะเดิมพันและย้ายไปอยู่ที่อื่น หากตลาดบ้านอยู่ในภาวะวิกฤติ ผู้ที่ประมูลซื้อบ้านของพวกเขาก็จะมีไม่มากนัก ดังนั้นแนวคิดที่จะขายบ้านแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
และเมื่อถึงเวลาเกษียณอายุแล้ว คนยุค Baby Boomers ยังคงมุ่งหน้าไปอยู่ตามเมืองที่มีอากาศอบอุ่น มีแดดจัด อย่างเช่นที่ ฟินิกซ์ แทมป้า ริเวอร์ไซด์ (แคลิฟอร์เนีย) ลาส เวกัส และแจ็คสันวิลล์ (ฟลอริด้า)
ความเย้ายวนใจของเมืองใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดผู้สูงอายุเหล่านี้ โดยเมืองที่สูญเสียผู้สูงอายุมากที่สุด ได้แก่ นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ชิคาโก วอชิงตัน และซานฟรานซิสโก
โดยทั่วไป ผู้ที่ย้ายไปอยู่ไกล ๆ มักจะถูกจูงใจด้วยสภาพอากาศ ค่าครองชีพที่ต่ำลง และการบริการต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุเหล่านั้นอาจย้ายกลับไปหาลูก ๆ เมื่อพวกเขาแก่ลงตัวไปกว่าเดิม
William Frey กล่าวอีกว่า เขาเรียกผู้สูงอายุเหล่านั้นว่า yuppie ซึ่งหมายถึงคนแก่ที่มีสุขภาพดีและยังมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอย พวกเขามักจะย้ายไปยังที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่เมื่อความเป็นอยู่ไม่ดีเท่าที่ควร พวกเขาก็อาจย้ายกลับไปยังที่ที่มีเพื่อน ๆ และครอบครัวที่จะสามารถช่วยดูแลพวกเขาได้