College Board ผู้จัดทำข้อสอบสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมที่สมัครเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกา เผยแพร่รายละเอียดของการปรับปรุงข้อสอบที่เรียกว่า Scholastic Aptitude Test หรือย่อๆ ว่า SAT ออกมาแล้ว
การเปลี่ยนแปลงที่มีการพูดถึงมากคือ คำถามเกี่ยวกับคำศัพท์ ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นคำถามเกี่ยวกับคำศัพท์ที่มีการใช้มาก และเปลี่ยนความหมายไปตามบริบทของการใช้ แทนคำศัพท์ที่ไม่ค่อยรู้จักหรือไม่ค่อยได้ใช้กันทั่วไป
ส่วนเรื่องการเขียนเรียงความ ซึ่งเวลานี้เป็นภาคบังคับ จะเปลี่ยนเป็นการเลือกทำ โดยให้เวลามากขึ้น นักเรียนที่เลือกทำเรียงความ จะถูกพิจารณาในด้านการอ่าน การวิเคราะห์ และการเขียน คะแนนการเขียนเรียงความจะแยกออกเป็นอิสระจากคะแนนส่วนอื่นๆ ของข้อสอบ
เวลาการสอบทั้งหมด กำหนดไว้ให้สามชั่วโมง โดยมีภาคการอ่านและตอบคำถามปรนัย 52 ข้อ คำถามด้านการเขียน 44 ข้อ และคำถามในภาคคณิตศาสตร์อีก 80 ข้อ คะแนนเต็มทั้งหมดรวม 1600 คะแนน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายการรับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยหลายแห่งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง โดยมองกันว่าเป็นความพยายามที่จะปรับข้อสอบให้เข้ากับแกนความรู้ที่นักเรียนควรได้เรียนรู้มาจากโรงเรียนมัธยมและเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ
College Board ตั้งเป้าไว้ว่า SAT ใหม่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างนักเรียนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยกับนักเรียนยากจน และลดความได้เปรียบสำหรับนักเรียนที่ได้รับการติวการสอบ SAT มาโดยเฉพาะ
แต่ที่ใครๆ มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับข้อสอบ SAT ใหม่ที่จะนำมาใช้ในอีกสองปีข้างหน้า ก็คือ จะไม่ลดความเครียดให้กับนักเรียนที่ต้องเข้าสอบอย่างแน่นอน
ในอีกด้านหนึ่ง คณะบริหารธุรกิจ ของมหาวิทยาลัย Yale ประกาศเปลี่ยนแปลงการให้คะแนนนักศึกษา โดยจะนำระบบ Bell Curve กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่วงการธุรกิจกำลังเลิกใช้ระบบที่ว่านี้เป็นมาตรวัดการทำงานของพนักงานลูกจ้าง
Bell Curve กำหนดว่า 10% ของกลุ่มที่ถูกวัดจะมีคะแนนเหนือคนอื่น และอีก 10% ต่ำกว่าคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่ตรงกลาง
มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ในวงการธุรกิจ คนทำงานดีราวๆ 20% ผลิตผลงานได้ประมาณ 80% ของงานทั้งหมด ในขณะที่คณะบริหารธุรกิจตามมหาวิทยาลัยชั้นดี รับนักศึกษาไม่ถึง 20% จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า มีการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการเหมาะสมที่จะนำ Bell Curve กลับมาใช้กับนักศึกษาเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง
และผู้ที่กำลังเลือกวิชาเรียน อาจจะสนใจกับผลการวิเคราะห์ของ CareerCast .com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แนะแนวอาชีพ
CareerCast อาศัยตัวเลขของทบวงสถิติแรงงาน สำนักงานสำมะโนประชากร สมาคมอาชีพต่างๆ และจากแหล่งอื่นๆ ประกอบกับตัวแปรทางด้านรายได้ อนาคตของอาชีพ สภาพแวดล้อม ความกดดัน และการใช้แรงงานของอาชีพต่างๆมาวิเคราะห์ และลงความเห็นว่า อาชีพงานที่ดีที่สุดเวลานี้ คือนักคณิตศาสตร์
Tony Lee ของ CareerCast บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจเอกชน องค์การหรือหน่วยงานรัฐบาล ต้องการตัวเลข และแนวโน้มจากการวิเคราะห์ที่ช่วยบ่งชี้ทิศทางของการทำงานของตนกันทั้งนั้น
รายได้ของนักคณิตศาสตร์เวลานี้ตกปีละกว่าหนึ่งแสนดอลล่าร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยติดอันดับที่สอง เมื่อคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นสำคัญ แม้รายได้จะอยู่ราวๆ $68,000 เศษเท่านั้น งานอีกสามชนิดในห้าอันดับแรก คือ นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย และนักโสตสัมผัสวิทยา
ส่วนงานที่ติดอันดับรั้งท้ายที่ 200 คือ งานตัดไม้ นักข่าวดีกว่านิดหน่อยในอันดับที่ 199 และนักกระจายเสียงอยู่ในอันดับที่ 196