บทบรรณาธิการ
บทบรรณาธิการ: ราคาที่ต้องจ่ายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ข่มเหงชาวอุยกูร์ ชนเผ่าคาซัค คีร์กีซและสมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ในมณฑลซินเจียงกันมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากการแต่งตั้งสมาชิกของคณะกรรมการโปลิตบูโร เฉิน ฉังกั๋ว ให้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในปี ค.ศ. 2016 นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่ Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC ซึ่งเป็นองค์กรทางเศรษฐกิจและหน่วยเสริมการทหารในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของรัฐบาลกลางของจีน และยังปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลจีนอีกมากมายในซินเจียงด้วย
หลังจากที่ เฉิน ฉังกั๋ว มาถึงเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ได้ไม่นาน เขาก็เริ่มดำเนินการโครงการเฝ้าระวัง กักขัง และปลูกฝังผู้คนที่นั่น โดยมีเป้าหมายที่ชาวอุยกูร์และสมาชิกของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์อื่น ๆ ขณะนี้ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค ชาวคีร์กีซ และชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์กอื่น ๆ หลายแสนคนถูกจับกุมในข้อหาละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ไว้หนวดเครา หรือปฏิเสธที่จะดื่มแอลกอฮอล์ และถูกกักขังอยู่ในค่ายกักขัง
สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลของ ปธน.ทรัมป์ มุ่งมั่นที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกดขี่ที่อยู่ทุกหนทุกแห่ง
กระทรวงการคลังและการทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรนาย เฉิน ฉังกั๋ว, ผู้อำนวยการสำนักงานรักษาความปลอดภัยสาธารณะมณฑลซินเจียง หวัง หมิงซาน, สมาชิกพรรคอาวุโสในมณฑลซินเจียง จู ไห่หลุน, อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฮั้ว หลิวจวิ้น, อดีตเลขาธิการ XPCC ซุน จินหลง และรองเลขาธิการ XPCC เป็ง เจียรุย สืบเนื่องจากความเชื่อมโยงของพวกเขากับการทารุณกรรมอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในซินเจียง
กระทรวงการคลังยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อ PSB และ XPCC โดยตรง ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของกระทรวงการคลังตามคำสั่งฝ่ายบริหารที่ 13818 ซึ่งต่อยอดและดำเนินการตามกฎหมาย Global Magnitsky Human Rights Accountability Act ที่ห้ามไม่ให้บุคคลที่ถูกคว่ำบาตรเข้ามาในสหรัฐฯ และการคว่ำบาตรเหล่านี้ยังอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในสหรัฐฯ ของบุคคลและองค์กรเหล่านั้นอีกด้วย
สหรัฐฯ ได้ดำเนินการอย่างรุนแรงที่สุดกว่าชาติใด ๆ ในโลก เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนในประเทศจีน
รมต. ต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ระบุในแถลงการณ์ว่า "การละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียงที่มีต่อชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น เป็นรอยด่างแห่งศตวรรษ" และว่า “รัฐบาลของ ปธน. ทรัมป์ เป็นผู้นำความพยายามของชาวโลกในการเปิดเผยความเสียหายที่ชัดเจนของการรณรงค์ปราบปรามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน การกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้คนจำนวนมากโดยพลการ การเฝ้าระวังที่ล้ำเส้น การบังคับใช้แรงงาน การบังคับควบคุมประชากร การเก็บรวบรวมข้อมูลด้านชีวภาพโดยไม่สมัครใจ และการวิเคราะห์พันธุกรรมที่กำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มคนเหล่านี้”
“วันนี้ สหรัฐฯ กำลังดำเนินการตามหลักการต่อไป”
See all News Updates of the Day
บทบรรณาธิการ: การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ไม่เป็นธรรมในเบลารุส
อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenka) ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจยาวนานของเบลารุส ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 กล่าวอ้างว่าตนได้รับชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย
คำกล่าวอ้างของเขาเรื่องชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 80 เปอร์เซ็นต์นั้น ถูกโต้แย้งโดยพลเมืองเบลารุสหลายแสนคน ซึ่งพากันเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนเพราะเชื่อว่าผลการเลือกตั้งนั้นถูกบิดเบือน กองกำลังของรัฐบาลตอบโต้การประท้วงนี้อย่างรวดเร็วและไร้ความปราณี ด้วยการทำร้ายร่างกาย จับกุม และการกักขังผู้ประท้วง นักข่าว และสมาชิกของฝ่ายค้าน เป็นจำนวนหลายพันคน และมีผู้ประท้วงอย่างน้อยสี่คนที่ถูกสังหาร
หลังการเลือกตั้ง ผู้นำฝ่ายค้านของเบลารุส 2 คนหลบหนีออกนอกประเทศ รวมถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายค้าน สเวียตลานา ซิคานูสกายา (Sviatlana Tsikhanouskaya) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่ เซอร์เก (Sergei) สามีของเธอ ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ทางด้านการเมือง ถูกจำคุกและถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปในหลายเมืองของเบลารุส ผู้ประท้วงกว่า 100,000 คนรวมตัวกันที่กรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเบลารุส โดยผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการณรงค์ที่มีชื่อว่า "สตรีในชุดขาว" ที่ออกไปตามท้องถนนเพื่อประท้วงการปราบปรามที่รุนแรงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลอันเป็นที่รักที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้
ผู้หญิงเหล่านั้นสวมชุดสีขาวและมักจะถือดอกไม้เอาไว้ พวกเธอเริ่มปรากฏตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในกรุงมินสก์ และมีการประท้วงในลักษณะเดียวกันนี้ที่ประเทศเยอรมนี โปแลนด์ เบลเยียม ยูเครน และรัสเซีย
เห็นได้ชัดจากการตอบสนองของชาวเบลารุสต่อการเลือกตั้งที่มีต่อข้อโต้แย้งในการเลือกตั้งว่า พวกเขาปรารถนาในบางสิ่งบางอย่างที่ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ไม่เคยมีให้ ในตลอดระยะเวลากว่า 26 ปีที่เขาครองอำนาจ ประชาคมระหว่างประเทศได้ยินเสียงเรียกร้องของชาวเบลารุสและยืนหยัดร่วมกับพวกเขาในความต้องการอธิปไตย
ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำยุโรปได้แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการดำเนินการเลือกตั้งในเบลารุส ที่ไม่มีทั้งเสรีภาพหรือความยุติธรรม รวมทั้งการตอบโต้การประท้วงอย่างรุนแรงของรัฐบาล ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไปที่บรรดานักข่าว การทำร้ายร่างกายผู้ถูกคุมขังอย่างรุนแรง และการปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) กล่าวในระหว่างการเยือนโปแลนด์ เมื่อไม่นานมานี้ว่า "วัตถุประสงค์ร่วมกันคือการสนับสนุนชาวเบลารุสให้บรรลุอำนาจอธิปไตยของตนเอง เสรีภาพของตนเอง ซึ่งสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่เห็นว่าเกิดขึ้นในการประท้วงเหล่านี้ ประชาชนเหล่านี้เรียกร้องสิ่งเรียบง่ายที่มนุษย์ทุกคนต้องการ นั่นคือสิทธิที่จะสามารถตัดสินใจเลือกรัฐบาลของพวกเขาเอง ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้ผู้นำของเบลารุสได้เปิดโอกาสให้กว้างขึ้นเพื่อโอบรับภาคประชาสังคมในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ตรงกันกับสิ่งที่ชาวเบลารุสกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้"
บทบรรณาธิการ: ต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์
อาชญากรรมไซเบอร์และการก่ออาชญากรรมโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก การระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีแต่ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ข้อมูลของ FBI ระบุว่า นับตั้งแต่มีการแถลงการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส อาชญากรรมไซเบอร์ได้เพิ่มขึ้นราว 400%
การล่วงล้ำทางไซเบอร์กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยมากขึ้น อันตรายมากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น และมีการกำหนดเป้าหมายทั้งเครือข่ายภาคเอกชนและภาครัฐ บรรดาธุรกิจและบริษัทต่างๆ ตกเป็นเป้าหมายด้านความลับทางการค้า และข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ส่วนมหาวิทยาลัยและห้องปฏิบัติการทดลองต่าง ๆ ล้วนตกเป็นเป้าหมายด้านการวิจัยและการพัฒนา ในขณะที่ภาคเอกชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศรางวัลสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สำหรับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุมหรือการตัดสินลงโทษชาวยูเครนที่ชื่อ อาร์เท็ม เวียเชสลาโนวิช ราดเชนโก (Artem Viacheslavovich Radchenko) และ โอเล็กซานเดอร์ วิทาลเยวิช เลเรเมนโก (Oleksandr Vitalyevich Ieremenko) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในอาชญากรรมไซเบอร์ข้ามชาติ
จากการตรวจสอบกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเขา พบว่านายราดเชนโก และนายเลเรเมนโก ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เจาะเข้าไปในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกงหลักทรัพย์ การโอนเงิน และการฉ้อโกงคอมพิวเตอร์ แฮกเกอร์ทั้งสองถูกฟ้องร้องทั้งหมด 16 ข้อหา จากข้อกล่าวหาว่าทั้งสองขโมยไฟล์ที่เป็นความลับหลายพันไฟล์ แล้วนำไปขายอย่างผิดกฎหมายเพื่อหากำไร นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังได้ฟ้องร้องนายเลเรเมนโก รวมทั้งบุคคลและหน่วยงานอื่น ๆ ในคดีแพ่งด้วย
รางวัลนำจับดังกล่าวอยู่ในโครงการรางวัลนำจับอาชญากรรมข้ามชาติของกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับโครงการรางวัลนำจับด้านยาเสพติด ซึ่งได้นำอาชญากรข้ามชาติจำนวน 75 คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนับตั้งแต่โครงการเหล่านี้เริ่มมีขึ้นในปี ค.ศ. 1986
ข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวกับอาชญากรไซเบอร์เหล่านี้ควรถูกส่งไปยังหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา ทางอีเมลที่ Rewards@usss.dhs.gov ผู้ใดก็ตามที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีของนายราดเชนโก และนายเลเรเมนโก หรือโครงการรางวัลอาชญากรรมข้ามชาติ สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.state.gov/artem-viacheslavovich-radchenko/
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) มีแถลงการณ์ว่า "อาชญากรไซเบอร์คือผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือไม่เคารพหลักนิติธรรมของประเทศใด ๆ และเมื่อการก่ออาชญากรรมของพวกเขาส่งผลไปทั่วโลก สหรัฐฯ ยินดีให้ความร่วมมือและการประสานงานกับรัฐบาลของทุกประเทศ เพื่อนำอาชญากรเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเพื่อปกป้องพลเมืองผู้บริสุทธิ์ทั่วโลก"
"สหรัฐฯ มุ่งมั่นในความพยายามดังกล่าวผ่านโครงการรางวัลนำจับอาชญากรรมข้ามชาติของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำอาชญากรไซเบอร์และอาชญากรข้ามชาติอื่น ๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม"
บทบรรณาธิการ: รัฐมนตรีพอมเพโอกล่าวคำปราศรัยเรื่องเสรีภาพทางศาสนา
ในการกล่าวคำปราศรัยครั้งล่าสุดเกี่ยวกับเสรีภาพทางศาสนาที่รัฐไอโอวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ เรียกเสรีภาพทางศาสนาว่าเป็นเสรีภาพอันดับแรกของสหรัฐฯ อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ และว่าความเคารพอย่างสูงต่อสิทธิที่ไม่สามารถยึดครองได้นี้เป็นแนวทางในการบริหารงานของสหรัฐฯ
ปัจจุบัน เสรีภาพทางศาสนายังคงถูกคุกคามในหลายประเทศ รมต.พอมเพโอ ชี้ให้เห็นว่า สี่ในห้าของประชากรโลกไม่ได้มีความพึงพอใจกับเสรีภาพทางศาสนาอย่างเต็มที่
และเพื่อยกระดับสภาพการณ์สำหรับผู้แสวงหาเสรีภาพทางศาสนาในประเทศต่าง ๆ สหรัฐฯ ได้ใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ในการจัดการ รวมถึการระบุชื่อประเทศที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานนี้:
"สหรัฐฯ ต่อต้านสงครามด้านศาสนาในประเทศจีน การกักขังชาวอุยกูร์จำนวนมาก การตัดสินใจโดยที่ไม่คำนึงถึงพระผู้เป็นเจ้าในการแทนที่บัญญัติสิบประการของศาสนจักร ด้วยถ้อยคำของเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิง"
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อความก้าวหน้าด้านเสรีภาพทางศาสนามาแล้วสองครั้ง ซึ่งมีบรรดาผู้นำประเทศและผู้นำทางศาสนาจากทั่วโลกมารวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของเสรีภาพทางศาสนา
รมต. พอมเพโอ กล่าวว่า อเมริกามุ่งมั่นที่จะปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้คนทั่วโลก นี่เป็นมรดกอันน่าภาคภูมิใจของผู้ก่อตั้งประเทศ ซึ่งสร้างสหรัฐฯ ขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะรับประกันว่าคนอเมริกันมีสิทธิที่ได้มาแต่กำเนิด ตามที่ระบุไว้ในคำประกาศอิสรภาพและรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
"นโยบายต่างประเทศของประเทศของสหรัฐฯ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ตรงกัน นั่นคือความมุ่งมั่นที่ทำให้สหรัฐฯ เป็นดวงดาวแห่งอิสรภาพที่เจิดจรัสอยู่บนในโลกใบนี้ นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกสร้างขึ้นบนหินที่แข็งแรง ตามหลักการของข้อเท็จจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ตอนที่ก่อตั้งประเทศนี้" รมต.พอมเพโอกล่าว
บทบรรณาธิการ: จีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
ตามบทบาทที่กำหนดไว้ในกฎบัตรขององค์กร
วอยซ์ ออฟ อเมริกา ต้องถ่ายทอดมุมมองที่หลากหลายในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเผยแพร่บทบรรณาธิการที่แสดงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ และบทความอื่นๆ เกี่ยวกับอุดมการณ์และสถาบันต่างๆ ของอเมริกา:
นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ ผู้อำนวยการหน่วยงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ กล่าวในสุนทรพจน์ ที่สถาบัน Hudson Institute ไว้ว่า จีนเป็น “ภัยคุกคามระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ต่อความเเข็งเเกร่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเเห่งชาติของสหรัฐฯ
เขากล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการหลายยุคสมัยในหลายระดับ เพื่อที่จะเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ
“แต่การต่อสู้นี้ของจีนมิได้กระทำผ่านนวัตกรรมที่ชอบธรรม และมิได้เป็นไปตามการเเข็งขันที่ยุติธรรรมและถูกกฎหมาย ส่วนประชาชนจีนก็มิได้รับเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพในการมีความคิดสร้างสรรค์ อย่างที่เราเห็นคุณค่าในสหรัฐฯ แต่ที่จีนกระทำเป็นความพยายามให้ได้มาซึ่งการเป็นมหาอำนาจของโลกแต่เพียงผู้เดียวโดยหนทางใดก็ได้ที่จำเป็น” คริสโตเฟอร์ เวรย์ กล่าว
เขากล่าวว่า จีนดำเนินการสอดเเนมทางเศรษฐกิจ เจาะล้วงระบบข้อมูล ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ให้สินบน และเปิดเผยข้อมูลที่ให้ร้าย และบังคับผู้อื่นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะส่งอิทธิพลต่อนโยบายสหรัฐฯ บิดเบือนการหารือที่เปิดเผย และบั่นทอนความมั่นใจในกระบวนการและค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตยของสหรัฐฯ
ผู้อำนวยการเอฟบีไอย้ำว่า การกระทำที่ประสงค์ร้ายและเป็นอันตรายต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นฝีมือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
“เรื่องนี้มิได้เกี่ยวกับประชาชนชาวจีน และเเน่นอนว่าไม่เกี่ยวกับคนอเมริกันเชื้อสายจีน เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนที่คนเหล่านี้เดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพต่อพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา และสังคมอเมริกันของเราดีขึ้นได้เพราะสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อสังคมของเรา”
นายคริสโตเฟอร์ เวรย์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน กระทำการอย่างไม่ละะอาย ที่จะละเมิดบรรทัดฐานที่มีมายาวนาน และหลักกฎหมาย
เขาเรียกโครงการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดี สี จินผิง ว่า คือการ “ล่าสุนัขจิ้งจอก” ที่ มุ่งเป้าไปที่ชาวจีนที่อยู่นอกประเทศ เช่น ผู้ที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง นักเคลื่อนไหว และผู้เห็นต่างที่ต้องการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน ตัวอย่างเช่น จีนเคยขู่บุคคลรายหนึ่งให้กลับมายังประเทศจีน หรือให้ปลิดชีพตนเอง
ผู้อำนวยการเอฟบีไอ กล่าวว่า การกระทำของรัฐจีนอย่างเต็มรูปแบบควรได้รับการตอบโต้อย่างเดียวกัน “การเผชิญหน้ากับจีนอย่างได้ผล ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรทำธุรกิจกับจีน แต่หมายความว่าเมื่อจีนละเมิดกฎหมายอาญาและบรรทัดฐานของนานาชาติ เราไม่ควรอดทนต่อเหตุการณ์เหล่านั้น เอฟบีไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้จีนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และจะปกป้องนวัตกรรม แนวทางความคิดและรูปแบบการดำเนินชีวิตของสหรัฐฯ ด้วยความร่วมมือจากชาวอเมริกันที่ช่วยกันสอดส่องเหตุการณ์ต่าง ๆ”
ท่านสามารถเข้าไปอ่านบทบรรณาธิการที่เป็นภาษาอังกฤษ ของเราได้ที่ https://editorials.voa.gov
และรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทขององค์กร U.S. Agency for Global Media ผ่านคลิปวิดีโอ
ถ้าสามารถแสดงความคิดเห็นและคำถามมาได้ที่ editorials@voanews.com
หรือเขียนจดหมายส่งมาที่
Editorials
The Voice Of America
330 Independence Avenue, SW
Room 2137
Washington, D.C. 20237