ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนาคตของอินเดียที่มี “ประชากรมากที่สุดในโลก” คือ โอกาส หรือ ความเสียเปรียบ


New born in India
New born in India

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า ในช่วงปีนี้ อินเดียน่าจะแซงหน้าจีนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแล้ว และผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเปิดทางให้มีการหาประโยชน์จาก “การปันผลทางประชากร” (demographic dividend) ซึ่งเป็นคำที่ยูเอ็นให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง โอกาสของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกรุงนิวเดลีเองว่า จะจัดการกับตัวเลขประชากรของตนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อประชากรส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว

และในความเป็นจริง ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า อินเดียอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแล้วก็ได้ หลังจากจีนรายงานออกมาในเดือนมกราคมว่า จำนวนประชากรของตนหดตัวไปแล้ว

Poonan Muttreja, Executive Director, Population Foundation of India
Poonan Muttreja, Executive Director, Population Foundation of India

ปูนัน มูเตรจา ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิ Population Foundation of India กล่าวว่า ประเด็นที่ว่า ไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึง และอินเดียก็รู้ตัวดีว่าจะแซงหน้าจีนจริง ๆ ในปี 2027 เพียงแต่เนื่องจากการลดลงของประชากรในจีนที่เร่งขึ้นเร็วต่างหาก ที่ทำให้การเปลี่ยนสถานะนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ประเมินไว้

ทั้งอินเดียและจีนมีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคน แต่การที่อินเดียมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีนัยสำคัญอย่างมาก

ในขณะที่ ประชากรจีนกำลังลดลงและมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คล้าย ๆ กับหลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ แต่เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในอินเดีย มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และกลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้มีศักยภาพที่จะกลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกและเป็นแหล่งรวมของแรงงานที่มีทักษะ

S.Y. Quraishi, Former Election Commissioner, Author of The Population Myth
S.Y. Quraishi, Former Election Commissioner, Author of The Population Myth

เอส วาย กูเรชี อดีตกรรมการการเลือกตั้งและผู้เขียนหนังสือ The Population Myth บอกกับวีโอเอว่า อินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่เมื่อมองจากมุมของการบริโภค และก็ยังเป็นแหล่งแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมรายใหญ่ที่สุดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวมาพร้อมกับความท้าทายอีกประการ โดยเฉพาะเมื่อจำนวนประชากรวัยทำงานของอินเดียน่าจะแตะหลักพันล้านภายในสิ้นทศวรรษนี้ เพราะนั่นหมายถึงคนหนุ่มสาวจำนวนมากในประเทศอาจเผชิญกับอัตราการว่างงานที่สูงก็เป็นได้

Anmol Jain, College Student
Anmol Jain, College Student

อันมอล เจน ซึ่งเป็นนักศึกษาเห็นด้วยกับรูปการณ์นี้และกล่าวว่า เมื่อจำนวนคนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนงานน้อยลง การแข่งขันย่อมมากขึ้น ดังนั้น การหางานจึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ขณะเดียวกัน บางคนกลับมองสถานการณ์ที่ว่า เป็นความท้าทายมากกว่า

Aaren Gulia, College Student
Aaren Gulia, College Student

แอเรน จูเลีย นักศึกษาอีกราย ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวจะมีไอเดียความคิดที่มากกว่า และการเป็นผู้ประกอบการก็คือ คำตอบของเรื่องนี้ แม้ว่าจะไม่มีเงินทุน แต่คนรุ่นใหม่ในอินเดียมีความคิดดี ๆ ที่จะช่วยฟันฝ่าความท้าทายนี้ทำให้สำเร็จได้

และเพื่อให้บรรลุศักยภาพที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำถึงความจำเป็นของผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่จะทำการปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะในเวลานี้ มีแรงงานเพียงประมาณ 5% ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมทักษะอย่างเป็นทางการ

มูเตรจา ผู้บริหารมูลนิธิ Population Foundation of India ชี้ว่า สิ่งสำคัญสองสิ่งที่ต้องมีการลงมือทำ ก็คือ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีทักษะในการทำงาน และการเสริมทักษะให้กับคนที่ยังไม่เป็นเลิศในงานของตนให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะหากไม่ดำเนินการเช่นนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความขัดแย้งในสังคม การที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากตกงาน รู้สึกหมดหนทาง และกลายเป็นคนที่ไร้ความสุข

ในประเด็นนี้ นักศึกษาเห็นด้วยกับการที่ตนมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมเพื่อจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตขึ้น

People of India
People of India

อิชิตะ ซูด ซึ่งเป็นนักศึกษาเช่นกัน มองว่า การฝึกทักษะที่เหมาะสมให้คนรุ่นใหม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนในชั้นเรียนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานมากนัก

อย่างไรก็ตาม ประเทศอินเดียมีโอกาสไม่มากนักที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจจากประชากรวัยหนุ่มสาว เพราะขณะที่อินเดียจะขยายตัวได้ต่อไปเป็นเวลาประมาณ 3 ทศวรรษ ในเวลานี้ ผู้หญิงอินเดียเริ่มมีบุตรน้อยลงแล้ว และความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาและการหารายได้ก็เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ไม่ช้าก็เร็ว อินเดียก็จะไม่ต่างจากจีนและขยับเข้าสู่สังคมสูงวัยในที่สุด

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG