ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักมานุษยวิทยาการแพทย์วิจารณ์การบำบัดโรค Ebola ที่ระบาดอยู่ในแอฟริกาว่าขาดมนุษยสัมพันธ์


please wait

No media source currently available

0:00 0:05:19 0:00
Direct link

นักมานุษยวิทยาการแพทย์วิจารณ์กระบวนการบำบัดรักษาโรค Ebola ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศในแอฟริกาขณะนี้ ว่าขาดการพิจารณาส่วนประกอบทางด้านมนุษยสัมพันธ์ ทำให้ประสบปัญหากับชุมชนจนถึงกับเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

ศาสตราจารย์ Stacey Langwick นักมานุษยวิทยาการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Cornell ในสหรัฐ อธิบายว่า ผู้ที่ศึกษาวิชาสาขานี้อยากจะรู้ว่า คนเราคิดถึงร่างกายของเรา คิดถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และภัยคุกคามอย่างไร และคิดจะตอบโต้อย่างไรบ้าง

แม้จะเป็นที่ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโรค Ebola ในประเทศ Guinea, Liberia, และ Sierra Leone เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แต่อาจารย์ Stacey Langwick บอกว่า ยังมีมุมมองอื่นที่ควรนำมาพิจารณาด้วย นอกไปจากประเด็นทางวิทยาศาสตร์และชีววิทยาเกี่ยวกับแหล่งที่มาและการเพาะและแพร่เชื้อของโรคร้ายนี้

นักมานุษยวิทยาการแพทย์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า อาจจะมีการร่างแผนจัดการกับโรคนี้ขึ้นมา ที่ดูแล้วน่าจะได้ผล แต่เมื่อนำออกไปปฏิบัติกลับไม่ได้ผลเลย

การแพร่ระบาดของโรค Ebola ในอดีตในทวีปแอฟริกามักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ ในบริเวณที่จำกัด ซึ่งทำให้สามารถแยกและกักกันตัวผู้ป่วยได้ และการระบาดยุติลงเมื่อไม่มีผู้เสียชีวิตต่อไปอีก

แต่การระบาดครั้งนี้ข้ามพรมแดนหลายประเทศมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว โดยมีการเสียชีวิตและการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งนักวิชาการผู้นี้ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะโลกเราสมัยนี้มีการเดินทางติดต่อกันได้อย่างง่ายดายมากขึ้น การแพร่ระบาดจึงเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย

แต่สำหรับประชาชนที่พำนักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการสาธารณสุขไม่ดี และล้อมรอบไปด้วยความตายและความหวั่นกลัว การกักกันบริเวณผู้ป่วย อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นในกรุง Monrovia ของประเทศ Liberia โดยแทบจะไม่มีการเตือนล่วงหน้าหรือการให้ความรู้แก่ผู้คน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงจนเกิดความรุนแรงขึ้น

นักมานุษยวิทยาการแพทย์ผู้นี้ ให้ความเห็นต่อไปว่า คำถามที่นักมานุษยวิทยาการแพทย์อยากจะให้เริ่มต้นถามกันก็คือ เราจะให้การดูแลรักษาผู้ที่เรารักใคร่ผูกพันด้วยได้อย่างไร ซึ่งเธอเรียกว่าเป็นจริยธรรมของการดำรงชีวิต และการดูแลรักษา แม้กระทั่งการแสดงความเศร้าสลดต่อผู้เสียชีวิตก็เปลี่ยนไป เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่อนุญาตให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่แตะต้องศพในระหว่างการทำพิธีศพ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

อาจารย์ Stacey Langwick นักมานุษยวิทยาการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Cornell จึงตั้งคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นคนที่ยังอยู่จะมีวิธีปฏิบัติใหม่สำหรับการแสดงความเศร้าเสียใจได้อย่างไรบ้าง

ประเด็นสำคัญที่นักวิชาการผู้นี้ต้องการเน้นย้ำก็คือ จุดอ่อนของแผนการแก้ปัญหาทางสาธารณสุข มักจะมีจุดมุ่งเน้นในการบอกให้ผู้คนรับรู้ว่า ไม่ให้ทำอะไรบ้าง แทนที่จะคิดว่า มีอะไรที่พวกเขาอาจทำได้บ้าง

นักมานุษยวิทยาการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Cornell ผู้นี้ แนะนำว่า การดำเนินการที่ได้ผล จะเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นเมื่อหารือกับสมาชิกในชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยอาจจะเริ่มต้นที่หมอกลางบ้านที่เข้าใจถึงภัยของโรค Ebola และว่าหมอกลางบ้านที่ดีจะช่วยสนับสนุนการบำบัดรักษาทั้งในทางชีววิทยาและทางมนุษยสัมพันธ์ได้

ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรค Ebola ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 1,200 คน แต่อย่างน้อยอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเคยสูงถึง 90% ลดลงมาอยู่ที่ราวๆ 50% สำหรับการระบาดครั้งนี้

ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้มีการทดลองใช้ยา Zmapp ของบริษัท Mapp Biopharmaceutical ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยากับผู้ป่วยหกคนในแอฟริกาตะวันตก หนึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต แต่อีกห้าคนมีอาการดีขึ้น ยังไม่เป็นที่ทราบว่า ยาที่ใช้มีส่วนช่วยผู้ป่วยอย่างไรหรือไม่

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG