บริษัทเมตา (Meta) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศปลดล็อกคำสั่งห้ามอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ให้เข้าใช้บัญชีของตนตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว โดยจะมีผลในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
เมตาประกาศผ่านโพสต์ทางบล็อกของตนในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทจะเพิ่ม “ราวป้องกันภัยใหม่” เข้าไปในระบบเพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มี “ผู้กระทำผิดซ้ำสอง” ที่ละเมิดกฎของแพลตฟอร์มนี้ ไม่ว่าผู้ใช้งานคนนั้นจะเป็นถึงนักการเมืองหรือผู้นำโลกก็ตาม
นิค เคล็กก์ รองประธานฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของเมตา ระบุในโพสต์ดังกล่าวว่า “สาธารณชนควรสามารถจะได้ยินสิ่งที่นักการเมืองของตนพูด – ทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี และเรื่องไม่น่าฟัง – เพื่อว่า พวกเขาจะสามารถตัดสินใจด้วยการใช้ข้อมูลต่าง ๆ เมื่อต้องลงคะแนนเสียง(เลือกตั้ง)” แต่ก็ระบุด้วยว่า ถ้าหากบริษัทพบว่ามี “ความเสี่ยงอันชัดแจ้ง” ที่จะนำไปสู่ภัยคุกคามในโลกของความเป็นจริง เมตา ก็จะเข้าแทรกแซงทันที
เคล็กก์ เขียนในโพสต์ด้วยว่า “หากทรัมป์โพสต์เนื้อหาที่ละเมิดกฎอีก จะมีการลบเนื้อหานั้น ๆ และเขาจะถูกระงับ(การใช้งานบัญชีเฟซบุ๊ก) เป็นเวลา 1 เดือนและ 2 ปี โดยขึ้นอยู่กับระดับความร้ายแรงของการละเมิดนั้น ๆ”
เฟซบุ๊กสั่งระงับบัญชีใช้งานของอดีตปธน.สหรัฐฯ รายนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี ค.ศ. 2021 หลังทรัมป์ออกมากล่าวสรรเสริญผู้ที่เข้าร่วมก่อความรุนแรงในการบุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันก่อนหน้า แต่บริษัทสื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้ไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้องที่มีออกมาก่อนหน้าหลายอย่างที่มาจากทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งต้องการให้บริษัทยกเลิกบัญชีใช้งานของทรัมป์ไปเลย
และหลังมีการประกาศปลดคำสั่งแบนออกมา ทรัมป์ออกมากล่าวโจมตีการตัดสินใจระงับการใช้งานของตนเมื่อ 2 ปีก่อนทันที พร้อม ๆ กับโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ Truth Social ที่ตนก่อตั้ง ด้วยการระบุว่า “เฟซบุ๊ก ซึ่งสูญเสียมูลค่าของตนไปหลายพันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ “ปลด (ประธานาธิบดีคนโปรดของคุณ) ออกจากแพลตฟอร์ม” ซึ่งก็คือ ผม เพิ่งคืนสถานะบัญชีของผม เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ หรือใครก็ตามที่ไม่สมควรเจอกับวิบากกรรมเช่นนี้”
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังถูกแบนจากสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ อยู่ เช่น สแนปแชต (Snatchat)
ขณะเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองและหลายคนก็ออกมาประณามการตัดสินใจของ เมตา แล้ว อย่างเช่น ไฮดี ไบริช ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Global Project Against Hate and Extremism ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มที่ชื่อ Real Facebook Oversight Board ที่ชี้ว่า การที่บริษัทยอมให้ทรัมป์กลับมาใช้เฟซบุ๊กเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า ผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก สามารถทำผิดกฎต่าง ๆ โดยไม่ต้องรับผลกรรมอันถาวรเลย
ส่วน เดอร์ริค จอห์นสัน ประธานกลุ่ม NAACP (National Association for the Advancement of Colored People) ตำหนิการตัดสินใจของเฟซบุ๊กว่า เป็น “ตัวอย่างชั้นยอดของการให้ความสำคัญต่อผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้คน” และเป็น “ความผิดพลาดอย่างมหันต์” ด้วย
แต่ จามีล แจฟเฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารของ Knight First Amendment Institute ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เห็นต่างออกไปและกล่าวว่า สิ่งที่เมตาทั้งนั้นคือ “การตัดสินใจที่ถูกต้อง – ไม่ใช่เพราะอดีตประธานาธิบดีมีสิทธิ์ที่จะใช้งานแพลตฟอร์มนี้ แต่เพราะสาธารณชนสนใจที่จะได้ยินโดยตรงจากผู้เข้าชิงเก้าอี้ทางการเมือง” เช่นเดียวกับ แอนโทนี ดี โรเมโร ผู้อำนวยการของ American Civil Liberties Union ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และกล่าวว่า “ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ปธน.ทรัมป์ คือ นักการเมืองแถวหน้าคนหนึ่งของประเทศ และสาธารณชนก็มีความสนใจอย่างมากที่จะได้ยินการปราศรัยของเขา อันที่จริง โพสต์ของทรัมป์ทางสื่อสังคมออนไลน์ที่อุกอาจที่สุดก็กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญในการฟ้องร้องเขาและรัฐบาลของเขา”
- ที่มา: เอพี