ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Asia Foundation จัดเสวนาปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้ที่กรุงวอชิงตัน


มูลนิธิเอเชีย หรือ Asia Foundation จัดเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ ปัญหาความรุนแรงภาตใต้ของไทย เมื่อใดจะยุติ? (Violence in Southern Thailand : When Will it End?) ที่กรุงวอชิงตัน โดยเชิญคุณนายดอน ปาทาน ผู้สื่อข่าวอาวุโสและนักวิเคราะห์จากเครือเดอะเนชั่น ในฐานะผู้อำนวยการปัตตานีฟอรั่ม ที่มีประสบการณ์และมีผลงานด้านวิชาการเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ มาร่วมบรรยาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตอบข้อซักถามกับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ให้ความสนใจจำนวนมาก

คุณดอน ปาทาน ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ภาคภาษาไทย ว่า ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากว่า 5,000 คนในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีความซับซ้อนในหลายมิติมายาวนาน แม้จะมีความพยายามสร้างแนวทางการเจรจาและแก้ปัญหา แต่ก็ยังขาดความมีเอกภาพจากทั้งฝ่ายของหน่วยงานของรัฐไทย ขณะที่ในฝ่ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ยังมีหลายกลุ่มที่ไม่เป็นทิศทางเดียวกันนัก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหาทางยุติ

คุณดอน กล่าวว่า กลุ่มแนวร่วมฯมีหลายกลุ่มมาก เฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า PULO (Patani United Liberation Organization)ก็มีผู้นำถึง 3 คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นประธาน และเป็นกลุ่มเก่า ขณะที่กลุ่ม BRN (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate)ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่เครือข่ายที่แข็งแกร่งและมีความสัมพันธ์กับ “จูแว” หรือ กลุ่มแนวร่วมรุ่นใหม่ใน 3 จังหวัด แต่ก็ไม่มีโครงสร้างบังคับบัญชาที่แน่นอน และแต่ละกลุ่มก็มีช่องว่างอยู่มากพอสมควร ขณะที่ฝ่ายไทยก็ไม่มีเอกภาพไม่ว่าจะเป็นการทำงานของทหาร หรือ ฝ่ายการเมือง

คุณดอนอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้จะมีความพยายามเปิดเวทีเจรจากับกลุ่มแนวร่วมแบ่งแยกดินแดน แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เพราะยังขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน แม้ล่าสุดจะมีความพยายามให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาแต่นักวิเคราะห์ที่ฝังตัวในพื้นทีจังหวัดชายแดนใต้มานานแสดงความไม่เชื่อว่าการเจรจาที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลางจะยังไม่ประสบผล เพราะมาเลเซียมีนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเจรจาในครั้งนี้ และไม่แน่ใจว่าฝ่ายแนวร่วมฯ จะไว้ใจมาเลเซียได้มากน้อยขนาดไหน

ผู้สื่อข่าวอาวุโสและนักวิเคราะห์จากเครือเดอะเนชั่น เสนอว่า เงื่อนไขการเจรจากับผู้นำกลุ่มแนวร่วมฯอาจเป็นเรื่องสำคัญแต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการสร้างความเข้าใจในมิติของความแตกต่างและความละเอียดอ่อนในประเด็นปัญหานี้กับสังคมโดยรวม ไม่เฉพาะในส่วนของประชาชนใน 3 จังหวัดเท่านั้น ยังรวมไปถึงชาวไทยส่วนใหญ่ในอีก 74 จังหวัดอีกด้วย เพราะต้องสร้างความเข้าใจ หรือพื้นที่การยอมรับความแตกต่างระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเล่าหรือจิตวิญญานในเงื่อนไขที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาว 3 จังหวัด

“ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดนั้น เขายอมเป็นส่วนหนึ่งของไทย แต่ต้องบนเงื่อนไขของเขา ไม่ใช่บนเงื่อนไขของกรุงเทพฯ” ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการปัตตานีฟอรั่ม กล่าว

เวทีอภิปรายเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่กรุงวอชิงตัน จัดโดย มูลนิธิเอเชีย หรือ Asia Foundation ได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้สนใจ ที่นอกจากจะร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแล้วยังมีบางส่วนที่ได้ยกประเด็นบทบาทของนานาชาติที่จะร่วมแก้ปัญหานี้ด้วย
XS
SM
MD
LG